โครงการถวายพระพรออนไลน์เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทยได้ลงนามถวายพระพรออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.welovekingonline.com

ผลการคัดเลือกบุคคลเป็นลูกจ้างชั่วคราว

ผลการคัดเลือกบุคคลเป็นลูกจ้างชั่วคราวปฏิบัติงานโครงการสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2555

โครงการสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำสำมะโนธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ และสำมะโน อุตสาหกรรมทุก 10 ปี ตามข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ประเทศมีข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญทางด้านธุรกิจทางการค้า ธุรกิจทางการบริการ และอุตสาหกรรมการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง

16 พฤศจิกายน 2554

รายงานสถิติรายปีประเทศไทย พ.ศ. 2554

รายงานสถิติรายปีประเทศไทย พ.ศ. 2554 ฉบับนี้เนื้อหาประกอบด้วย ส่วนที่หนึ่ง เป็นการนำเสนอแผนที่ประเทศไทย ความรู้เกี่ยวกับประเทศไทย และตัวชี้วัดที่สำคัญ เพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลได้มีความรู้ความเข้าใจและมองเห็นภาพเกี่ยวกับประเทศไทย ส่วนที่สอง เป็นการนำเสนอข้อมูลสถิติในรูปของตารางสถิติ และแผนภูมิสถิติ โดยนำเสนอเป็น 23 บทตามสาขาสถิติ โดยมีบทนำประกอบการใช้ข้อมูลสถิติ เพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลทราบถึงความเป็นมา หรือความหมายของข้อมูลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งได้ระบุแหล่งที่มาของข้อมูลไว้ใต้ตารางสถิติทุกตารางเพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้

[ดาวน์โหลด รายงานสถิติรายปีประเทศไทย พ.ศ. 2554]

4 พฤศจิกายน 2554

ภาวะการทำงานของประชากรจังหวัดสุรินทร์ ไตรมาส 1/2554

ผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรจังหวัดสุรินทร์ ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2554 ซึ่งเป็นการสำรวจไตรมาสที่ 1 ของช่วงปี พบว่าจังหวัดสุรินทร์มีจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 1,132,373 คน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 747,216 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 66.0 ของประชากร เป็นผู้ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน 385,112 คน คิดเป็นร้อยละ 34.0
สำหรับกลุ่มผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานทั้งหมด 747,261 คน นั้นแยกได้เป็น
  1. ผู้มีงานทำ จำนวน 719,609 คน คิดเป็นร้อยละ 96.3 ของผู้อยู่ในกำลังแรงงาน
  2. ผู้ว่างงาน ซึ่งหมายถึงผู้ไม่มีงานทำและพร้อมที่จะทำงานมีจำนวน 6,360  คน คิดเป็น    ร้อยละ 0.9
  3. ผู้ที่รอฤดูกาล ซึ่งหมายถึงผู้ที่ไม่ได้ทำงานและไม่พร้อมที่จะทำงาน เนื่องจากจะรอทำงาน ในฤดูกาลต่อไป มีจำนวน 21,292 คิดเป็นร้อยละ 2.8

18 ตุลาคม 2554

สถานการณ์เด็กไทย…….ภาพสะท้อนสังคม??

จากการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งในทางที่เป็นคุณและเป็นโทษ จำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อ แม่ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดต้องทำหน้าที่อบรม สั่งสอน และให้ความเอาใส่ใจดูแลเด็กอย่างมาก ตลอดจนต้องทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อสามารถนำพาเด็กๆ ให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องต่อไป

ครอบครัว ปัจจัยหล่อหลอมเด็กไทย
การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวมีพ่อ แม่ และลูกอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา เป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กได้รับความรัก ความอบอุ่นจากพ่อและแม่อย่างสมบูรณ์ นับว่าครอบครัวมีบทบาทสำคัญต่อเด็กอย่างมากในการหล่อหลอมและสร้างเด็กให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพทั้งความรู้ คุณธรรม และจริยธรรม สามารถดำรงชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นในสังคม และสร้างให้สังคมน่าอยู่ต่อไปได้ แม้โครงสร้างของครัวเรือน ส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวเดี่ยวที่มีพ่อ แม่ และลูก แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ จากร้อยละ 65.6 ในปี 2530 เป็นร้อยละ 52.3 ในปี 2552 ขณะที่ครัวเรือนขยายที่มีพ่อ แม่ ลูก และญาติพี่น้องอื่นๆอยู่ด้วยนั้น จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 27.6 ในปี 2530 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35.8 ในปี 2552 อย่างไรก็ดี พบว่าในรอบ สองทศวรรษที่ผ่านมา การอยู่คนเดียวนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการย้ายออกไปทำงานในเมืองอื่นๆ มากขึ้น จึงทำให้ต้องแยกครัวเรือนออกมา ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน พบว่า ในปี 2551 มีเด็กจำนวน 1 ใน 5 ของเด็กทั้งหมดที่อายุไม่เกิน 17 ปี (หรือร้อยละ 20.1) ไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่ โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.3 ในปี 2548 เป็นเพราะพ่อและแม่ แยกทางกัน หรือต้องไปทำงานที่อื่นจึงต้องทิ้งบุตรหลานให้บุคคลอื่นเช่น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติพี่น้องเลี้ยงดูแทน
จากข้อมูลดังกล่าว จึงทำให้เกิดคำถามว่า “ทุกวันนี้ ผู้ปกครองได้ให้ความเอาใจใส่เด็กๆ มากพอหรือยัง?" ซึ่งผลสำรวจการใช้เวลาของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าการใช้เวลาใน 1 วันของคนไทยนั้น ใช้เวลาในการดูแลเด็ก ซึ่งรวมถึงการดูแลด้านร่างกาย การอบรมให้คำแนะนำ การใช้เวลารับส่งเด็กไปยังสถานที่ต่างๆ และการดูแลด้านจิตใจมีเพียง 2.1 ชั่วโมงต่อวันในปี 2544 เท่านั้น แม้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.3 ชั่วโมงต่อวันในปี 2547 แต่ก็ถือว่าเป็นการใช้เวลาสำหรับเด็กที่น้อยมาก แม้โดยรวมครอบครัวไทยยังดำรงความสัมพันธ์อย่างดีทั้งระบบครอบครัวและระบบเครือญาติ แต่ปัจจัยภายนอกก็มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดพฤติกรรมของเด็กด้วย จากการที่สังคมได้เปลี่ยนเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร ผู้คนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็วทั่วทุกมุมโลกผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้เด็กบริโภคข้อมูลบนสื่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างเสรีแบบ Anytime Anywhere และ Anything แล้วเช่นนี้เด็กไทยจะเป็นอย่างไรหรือต้องเผชิญอะไรบ้างในโลกไร้พรมแดน

เกมออนไลน์...สร้างสรรค์จินตนาการหรือมอมเมา???
“เด็กติดเกม” หลายคนคงจะคุ้นหู เพราะมีการพูดกันในวงกว้างเกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่ไม่เหมาะสม กับเด็ก การติดเกมจนทำให้เสียสุขภาพ และการเรียน แต่ใครจะทราบบ้างว่า หากมองอีกด้านหนึ่งเกมออนไลน์นั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของเด็กๆ เพราะนอกจากการเล่นเกมที่ได้รับความเพลิดเพลินแล้ว เด็กๆ ยังได้ทักษะในการใช้อินเทอร์เน็ต การติดตามข่าวสาร และการค้นหาข้อมูลต่างๆ ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ด้วยตัวของเด็กๆ เอง โดยจากผลสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า เด็กไทยใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในการเรียน การศึกษา และค้นหาข้อมูล/ติดตามข่าวสารบนอินเทอร์เน็ต ยกเว้นเด็กอายุ 6-10 ปี เท่านั้นที่ส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเล่นเกมส์ ส่วนแหล่งที่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ใช้ที่โรงเรียนและบ้าน โดยใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง

วัฒนธรรมไทย...เกราะป้องกันภัย??? คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม ตลอดจนการรับวัฒนธรรมแบบไม่ไตร่ตรองก่อน จะเป็นตัวอย่างให้เด็กลอกเลียนแบบ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปกครองและสังคมต้องเตรียมความพร้อมและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กในการรับและปรับไปใช้ในทางที่ถูกต้อง แม้ผลจากการสำรวจการเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมในปี 2548 จะพบว่าวัยรุ่นไทยยังคงมีพฤติกรรมและจิตสำนึกที่ดี ไม่ทำตัวเป็นภาระหรือปัญหาของสังคม โดยวัยรุ่นอายุ 13 – 24 ปี ส่วนใหญ่ใช้เวลาในการอ่านหนังสือ (ร้อยละ 85.5) และเล่นกีฬา ร้อยละ 78.4 แต่ก็มีวัยรุ่นถึงเกือบครึ่งที่เล่นเกมคอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 41.3) นอกจากนี้ยังพบข้อน่าเป็นห่วง ก็คือ การมีพฤติกรรมนอนดึกตื่นสาย การเที่ยวกลางคืนและเที่ยวเตร่เป็นประจำ แม้จะมีน้อยกว่าร้อยละ 6 แต่ก็นับว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะกับวัย แต่อย่างไรก็ตามในการสำรวจสภาวะทางสังคม วัฒนธรรม และสุขภาพจิต ปี 2551 พบเรื่องที่น่ายินดีว่า เด็กไทยที่นับถือศาสนาพุทธอายุ 13-14 ปี ประมาณร้อยละ 80 ระบุว่าเคยตักบาตร และสวดมนต์ ร้อยละ 67.4 ระบุว่าเคยถวายสังฆทาน และประมาณร้อยละ 30 ระบุว่าเคยรักษาศีล 5 (ครบทุกข้อ) และทำสมาธิ ซึ่งจากข้อมูลในภาพรวมนี้อาจแสดงให้เห็นได้ว่าอย่างน้อยก็ยังมีเด็กบางส่วนทื่ถือได้ว่าเป็น “เด็กไทย….ยังไม่ไกลวัด” จากที่กล่าวมาข้างต้น แม้จะไม่ใช่ภาพสะท้อนทั้งหมดของเด็กและเยาวชนไทย แต่ก็เป็นปรากฎการณ์ที่ต้องการสะท้อนให้สังคมได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนไทยเพิ่มมากขึ้น เพราะเด็กคือพลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต เปรียบเสมือนผ้าขาวที่พร้อมจะรับการแต่งแต้มสีจากผู้ใหญ่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ครอบครัว โรงเรียน ครู และสังคมจะต้องเป็นและสร้างแบบอย่างที่ดี เพื่อที่พวกเค้าจะได้ “รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ” เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป

ที่มา: กลุ่มงานวิเคราะห์และพยากรณ์สถิติเชิงสังคม สำนักสถิติพยากรณ์

17 ตุลาคม 2554

งานช้างและงานกาชาดสุรินทร์ 2554


จังหวัดสุรินทร์ มีช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณอีกทั้งชาวกวยหรือกูย ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองในอดีตได้จับช้างป่ามาฝึก เพื่อใช้งานในด้านต่างๆเช่น การพาหนะ การขนส่ง รวมถึง ช้างยังมีบทบาทในการประกอบพิธีทางศาสนาและวัฒนธรรมของชาวกวย ชาวกวยแต่ละครัวเรือนจะมีช้างที่เลี้ยงไว้อาศัยอยู่รวมกัน จนช้างที่พวกตนเลี้ยงไว้เปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของตน ก่อให้เกิดสายใยความผูกพันที่แน่นเฟ้นขึ้นระหว่างคนกับช้าง ชาวกวยจึงเลี้ยงช้างในฐานะที่เป็นสัตว์เลี้ยงเสียมากกว่าจะเป็นสัตว์ที่ไว้ ใช้งาน การฝึกช้างของชาวกวยจึงเป็นการฝึกช้างให้เชื่องและปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้า ของ ด้วยความเฉลียวฉลาด และความสามารถในการปฏิบัติตามคำสั่งได้อย่างน่าอัศจรรย์ของช้างนี้เอง กลุ่มผู้นำในหมู่บ้านได้เล็งเห็น และรวมตัวกันเพื่อแสดงให้คนภายนอกเห็นถึงความผูกพันของคนกับช้างที่สามารถ อยู่ร่วมกันและสื่อสารกันได้พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงความสามารถอันแสนพิเศษ ของช้างไทย การแสดงช้างครั้งแรก จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2503 ณ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ จากความน่ารัก ความแสนรู้ของช้างสุรินทร์ ในครั้งนั้น ด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่นที่สร้างชื่อเสียงและความประทับใจให้แก่ผู้ชมทั้ง ชาวไทย และชาวต่างชาติทั่วโลก

กิจกรรมเด่น

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2554
เวลา 14.00 น. – ขบวนแห่รถอาหารช้าง เริ่มจากบริเวณหน้าโรงเรียนสิรินธร
เวลา 18.00 น. – การประกวดขบวนรถอาหารช้าง ณ บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง อ.เมือง จ.สุรินทร์
เวลา 19.00 น. – การประกวดสาวงามเมืองช้าง เวทีกลางกาชาดสุรินทร์ สนามกีฬาศรีณรงค์ อ.เมือง จ.สุรินทร์

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2554
เวลา 08.00 น. – ขบวนพาเหรดและแห่ช้างกว่า 300 เชือก เริ่มขบวนจากหน้าสถานีรถไฟจังหวัดสุรินทร์
เวลา 09.00 น. – งานต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้าง ณ บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง อ.เมือง จ.สุรินทร์

วันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2554
เวลา 19.00 น. – งานแสดงแสง สี เสียง ตำนานพันปีปราสาทศีขรภูมิ ณ บริเวณปราสาทศีขรภูมิ อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์

วันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2554
เวลา 09.00 น. - การแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ ณ สนามแสดงช้าง อ.เมือง จ.สุรินทร์

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2554
เวลา 05.00 น. - งานวิ่ง “เมืองช้าง” มินิ-ฮาร์ฟมาราธอน ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์

[ดาวน์โหลด] แบบฟอร์มการจองบัตรชมการแสดงช้างสุรินทร์


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

สำนักงานจังหวัดสุรินทร์  โทร 044 512 039
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์  โทร. 044511 975
เทศบาลตำบลระแงง อ.ศีขรภูมิ  โทร. 044 561 243, 044 560 088
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์  โทร.080 464 7333
ททท. สำนักงานสุรินทร์  โทร. 044 514 447-8

สุขภาพจิตดี..มีได้ด้วยพอเพียง

การมีสุขภาพดีเป็นพื้นฐานสำคัญและจำเป็นมากสำหรับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งการมีสุขภาพดีไม่ใช่เฉพาะสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเท่านั้น แต่การมีสุขภาพจิตที่ดีก็มีความสำคัญมาก เช่นเดียวกัน การมีสุขภาพจิตที่ดีจะทำให้เราสามารถควบคุมอารมณ์ คิดแก้ปัญหาและตัดสินใจได้อย่างดี อีกทั้งสุขภาพจิตยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายได้ เพราะเมื่อสุขภาพจิตเสื่อม สุขภาพกายก็จะพลอยทรุดโทรมไปด้วยดังคำกล่าวที่ว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” จากผลลัพธ์ต่างๆ ที่เกิดจากสุขภาพจิตทำให้หลายฝ่ายเริ่มให้ความสนใจเรื่องของจิตใจมากขึ้น ดังนั้นสหพันธ์สุขภาพจิตโลกจึงได้กำหนดให้วันที่ ๑๐ ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันสุขภาพจิตโลก” เพื่อให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อปัญหาด้านสุขภาพจิต

ในหลายปีที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะประสบกับปัญหาต่างๆ เช่นปัญหาภัยธรรมชาติ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และปัญหาเรื่องปากท้อง เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตทั้งสิ้น แต่จากการสำรวจสุขภาพจิตคนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยใช้ข้อถามสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น 15 ข้อของกรมสุขภาพจิตที่พัฒนาจากข้อถามฉบับสมบูรณ์ที่กำหนดว่าบุคคลทั่วไปควรมีคะแนนสุขภาพจิตระหว่าง 27.01-34 คะแนน ผลสำรวจพบว่า ในปี 2552 คนไทยมีสุขภาพจิตโดยเฉลี่ยดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับ ปี 2551 ที่ได้ 31.80 คะแนน และในปี 2552 ได้ 32.73 คะแนน จากคะแนนเต็ม 45 คะแนน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้สำหรับคนทั่วไป และเป็นที่น่ายินดีที่มีผู้มีสุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 (จากร้อยละ 27.7 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 37.7 ในปี 2552)
นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่าการศึกษาและรายได้มีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตด้วย โดยพบว่าผู้ที่มีการศึกษาสูงและรายได้มากๆ จะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่มีการศึกษาและรายได้ต่ำกว่า แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะพบว่าถึงแม้ว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำจะมีคะแนนสุขภาพจิตน้อยที่สุดแต่เมื่อเทียบกับปี 2551 แล้วคะแนนสุขภาพจิตดีขึ้น (เพิ่มขึ้นจาก 30.29 คะแนนในปี 2551 เป็น 32.63 คะแนน ในปี 2552) นั่นแสดงว่านโยบาย และความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่เน้นประชาชนรากหญ้ามีผลให้สุขภาพจิตคนกลุ่มนี้ดีขึ้นได้ รายได้ก็เช่นเดียวกันแต่อาจจะไม่เสมอไปที่คนที่มีรายได้สูงจะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำ เพราะอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องด้วย เช่น ความมั่นคงในชีวิต และความสบายใจในการใช้จ่าย เป็นต้น

ส่วนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของประชาชนรากหญ้าคงหนีไม่พ้นเรื่องปัญหาหนี้สินซึ่งจากผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พบว่า ในปี 2552 คนไทยมีหนี้สิ้นเฉลี่ย 134,699 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว (ปี 2543 ครัวเรือนมีหนี้สิ้นเฉลี่ย 68,405 บาท) และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของรัฐบาล และตัวประชาชนเองที่ต้องหาวิธีแก้ปัญหานี้ให้ได้
การที่จะมีสุขภาพจิตดีนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่พร้อมทุกอย่างเสมอไป แม้ว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมืองในช่วงต้นปีที่ผ่านมาจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของประชาชน แต่ทุกคนสามารถที่จะมีสุขภาพจิตที่ดีได้ ถ้ารู้จักพอใจในสิ่งที่ตนมี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และดำเนินชีวิตอย่างมีสติโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพียงเท่านี้ทุกคนก็จะมีสุขภาพจิตดี และสามารถดำเนินชีวิตภายใต้สถานการณ์ที่กดดันได้อย่างมีความสุข

ที่มา: สำนักสถิติพยากรณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ

7 ตุลาคม 2554

ก.ไอซีที แถลงความก้าวหน้าการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยฯ

ก.ไอซีที แถลงความก้าวหน้าการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยฯ ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี

นาวา อากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แถลงความก้าวหน้าในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยฯ ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ว่า ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉินของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร เพื่อทำหน้าที่ปฏิบัติและประสานงาน โดยมีรองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นประธาน และมีผู้แทนจาก กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานสถิติแห่งชาติ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมเป็นคณะทำงาน และมีผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นเลขานุการ

นอกจากนี้ยังได้จัดผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยาและ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เข้าปฏิบัติงานที่ศูนย์สนับสนุนอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) ณ กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา เพื่อประสานติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ กำหนดข้อสั่งการพร้อมแจ้งเตือนภัยให้หน่วยงานต่างๆ  และประชาชนทราบ ตลอดจนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดเข้ารายงานตัวต่อผู้ว่าราชการ จังหวัดเพื่อปฏิบัติงานในส่วนการประมวลข้อมูลสถานการณ์และการช่วยเหลือ ประชาชน เพื่อรายงานรัฐบาลผ่าน ศอส.

“ในการดำเนินงานของกระทรวงฯ ได้ดำเนินการในลักษณะบูรณาการแบบ One Stop Service ตามมาตรการ 2P 2R คือ 1.ด้านการเฝ้าระวัง โดยได้ประสานการปฏิบัติและแลกเปลี่ยนข้อมูลการเตือนภัยกับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องตลอดเวลา เพื่อเป็นข้อมูลในการแจ้งเตือน รวมทั้งได้เฝ้าระวังสภาวะอากาศและประเมินข้อมูลที่อาจจะเกิดผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน โดยให้ความสำคัญกับการเตือนภัยล่วงหน้า และได้แจ้งข่าวในรูปของประกาศหรือการแจ้งเตือนผ่านหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งสื่อมวลชน วิทยุ-โทรทัศน์ รวมถึงข้อความสั้น (SMS) วิทยุสื่อสาร Social Network , website เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังได้มอบหมายให้ บมจ.ทีโอที และบมจ.กสทฯ ตรวจสอบและเตรียมความพร้อมโครงข่ายและเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมหลักให้ สามารถรองรับสถานการณ์ได้     ทุกพื้นที่ รวมทั้งวางระบบสื่อสารสำรองในภาวะฉุกเฉิน คือ ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมเคลื่อนที่ ในพื้นที่เฝ้าระวังเป็นการล่วงหน้า ตลอดจนได้ติดต่อซักซ้อมการแจ้งเตือนภัยระหว่างศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กับศูนย์เตือนภัยภาคประชาชน คือ ประชาชนผู้มีจิตอาสาและกลุ่มวิทยุสมัครเล่นเอาไว้ด้วย

2. ด้านการแจ้งเตือนภัย เมื่อมีความชัดเจนว่าจะเกิดภัยพิบัติ กรมอุตุนิยมวิทยาและศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกระชับความชัดเจนเกี่ยวกับลักษณะภัยและพื้นที่  พร้อมประเมินสถานการณ์เพื่อการแจ้งเตือนทุก 3 - 6 ชั่วโมง รวมถึงแจ้งผลการวิเคราะห์ผลกระทบในมิติของความรุนแรงและพื้นที่ ตลอดจนการคาดการณ์เพื่อประโยชน์    ในการบรรเทาและช่วยเหลือ รวมทั้งวางระบบการสื่อสารสำรองผ่านเครือข่ายประชาชนผู้มีจิตอาสาและวิทยุ สมัครเล่น ตามนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติเพื่อใช้ในพื้นที่วิกฤติที่ไม่สามารถติดต่อ สื่อสารด้วยเครือข่ายอื่นได้ รวมถึงเฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์ตลอด   24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้ประสานการบรรเทาภัยและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรณีที่การ ติดต่อระหว่างประชาชนกับหน่วยบรรเทา   สาธารณภัยมีปัญหาหรือไม่สามารถติดต่อกันได้ โดยการเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมงที่หมายเลข 192

3. ด้านการฟื้นฟู สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บมจ.ทีโอที บมจ.กสทฯ ได้สนับสนุนบุคลากรและเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงและซ่อมแซม อุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ ให้แก่หน่วยงานราชการและประชาชน ส่วนบจ.ไปรษณีย์ไทย ได้สนับสนุนการขนส่งสิ่งของในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ตลอดช่วงเวลา การบรรเทาและการฟื้นฟู นอกจากนั้นกระทรวงฯ ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานการบรรเทาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรณีที่การ ติดต่อมีปัญหา หรือไม่สามารถติดต่อระหว่างประชาชนกับหน่วยบรรเทาสาธารณภัยได้

4. ด้านการแก้ปัญหา กระทรวงฯ และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้กำกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่างๆ เป็น 3 ลักษณะ คือ พื้นที่ประสบภัย ได้แก่ จ.อุตรดิตถ์  ได้กำกับดูแลการติดต่อสื่อสารโดยให้ บมจ.ทีโอที เข้าพื้นที่และวางระบบสื่อสารโทรศัพท์ทางสายเพื่อการติดต่อระหว่างเจ้า หน้าที่และประชาชนในจุดที่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งพื้นที่ที่ยังเข้าไม่ได้ คือ บ้านต้นขนุน ตชด ๓๑๒ น้ำไผ่ น้ำปาด ห้วยคอม พร้อมทั้งวางระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายและ e-Conference ที่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้บางพื้นที่ที่สามารถดำเนินการ ได้ ส่วนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้รับหน้าที่ติดต่อกับประชาชนและประสานงานกับหน่วยช่วยเหลือผ่านหมายเลข 192 รวมทั้งติดตามสถานการณ์เพื่อสนับสนุนหน่วยงานบรรเทาทุกข์และช่วยเหลือ ประชาชน

พื้นที่เสี่ยงภัย คือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้ติดตามสถานการณ์น้ำฝนและน้ำในแม่น้ำ ลำห้วย เพื่อแจ้งพื้นที่ให้แจ้งเตือนภัยทางเครือข่าย “หอกระจายข่าว” และทางสัญญาณเตือนภัย โดยประสานงานตรงกับผู้รับผิดชอบในการบริหารสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้น้ำ  ได้เอ่อล้นฝั่ง บางพื้นที่ได้ไหลเข้าท่วมแล้ว  และฝนยังคงตกอย่างต่อเนื่อง ส่วนบางพื้นที่ได้ปักธงแดง แสดงสถานการณ์อันตรายแล้ว

และ พื้นที่เฝ้าระวัง คือ ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน และภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้ติดตามสภาวะอากาศและปริมาณฝนซึ่งกำลังตกหนักในพื้นที่ จ.ระนอง จ.พังงา จ.สตูล และภาคใต้ตอนล่าง เพื่อประสานหน่วยงานในพื้นที่ให้เฝ้าระวัง รวมทั้งให้ผู้มีจิตอาสารีบรายงานสถานการณ์ตามช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลง และประสานงานบมจ.ทีโอที เตรียมเข้าพื้นที่เสี่ยงเพื่อเตรียมความพร้อมของเครือข่ายการติดต่อสื่อสาร สำรอง” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

29 กันยายน 2554

จังหวัดสุรินทร์ประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย 5 อำเภอ


จังหวัดสุรินทร์ประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัย 5 อำเภอ 16 ตำบล 89 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองสุรินทร์ สำโรงทาบ ท่าตูม ชุมพลบุรี และศรีณรงค์ ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน 5,305 ครัวเรือน นาข้าวเสียหาย 11,600 ไร่
          นายอำนวย จันทรัฐ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและฝายชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดสุรินทร์ทั้ง 18 แห่ง ปริมาณน้ำวัดได้ 134.846 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือประมาณ ร้อยละ 92.95 ของความจุทั้งหมด 145.079 ล้าน ลบ.ม. โดยห้วยลำพอก อำเภอศีขรภูมิ ปริมาณน้ำวัดได้ 10.246 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำท่วมขังในบริเวณที่ลุ่มติดห้วยลำพอก อ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว อำเภอรัตนบุรี มีน้ำท่วมในนาข้าวบริเวณที่ลุ่มต่ำ ห้วยทับทัน อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ มีน้ำท่วมขังบริเวณนาข้าวที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ตำบลสำโรงทาบและตำบลเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ ห้วยเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ มีน้ำท่วมขังบริเวณนาข้าวที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ตำบลเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ ระดับน้ำแม่น้ำมูลขณะนี้ระดับน้ำล้นตลิ่งและเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรในบริเวณที่ลุ่มต่ำขยายเป็นวงกว้าง หากยังมีฝนในพื้นที่ประกอบกับการรับน้ำมาจากต้นน้ำจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ซึ่งจะไหลมาสมทบกันที่แม่น้ำมูล คาดว่าน้ำอาจจะเอ่อท่วมเส้นทางการสัญจรและบ้านเรือนของประชาชนสร้างความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตและทรัพย์สิน ในพื้นที่อำเภอชุมพลบุรี ท่าตูม รัตนบุรี สำหรับลำน้ำชีน้อยมีน้ำท่วมขังนาข้าวในบริเวณที่ลุ่มต่ำ คาดว่า หากยังมีฝนตกในพื้นที่ประกอบกับการรับน้ำมาจากที่อื่นจะทำให้มีปริมาณน้ำมาก และเอ่อท่วมพื้นที่นาข้าวขยายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลคอโค ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์
          สำหรับอำเภอที่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย จำนวน 5 อำเภอ 16 ตำบล 89 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองสุรินทร์ สำโรงทาบ ท่าตูม ชุมพลบุรี และศรีณรงค์ ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน 5,305 ครัวเรือน นาข้าวเสียหาย 11,600 ไร่ ถนนเสียหาย 12 สาย ส่วนความเสียหายด้านการเกษตรนั้นจากการตรวจสอบพื้นที่ประสบอุทกภัย คาดว่า นาข้าวจะเสียหายอีกประมาณ 10,286 ไร่ และมันสำปะหลังเสียหายประมาณ 22,956 ไร่ ทั้งนี้ อำเภอท่าตูม มีพื้นที่ที่คาดว่าเสียหาย 4 ตำบล 14 หมู่บ้าน นาข้าวเสียหายประมาณ 4,581 ไร่ อำเภอสังขะพื้นที่ที่คาดว่าเสียหาย 6 ตำบล 34 หมู่บ้าน นาข้าวเสียหายประมาณ 5,253 ไร่ อำเภอสำโรงทาบ พื้นที่ที่คาดว่าเสียหาย 1 ตำบล 2 หมู่บ้าน นาข้าวเสียหายประมาณ 455 ไร่ อำเภอกาบเชิงพื้นที่ที่คาดว่าเสียหาย 6 ตำบล 78 หมู่บ้าน ไร่มันสำปะหลังเสียหายประมาณ 22,956 ไร่ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า จังหวัดสุรินทร์ได้รับรายงานสถานการณ์อุทกภัยเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2554 ว่าอำเภอชุมพลบุรีขณะนี้ระดับน้ำแม่น้ำมูลเอ่อล้นตลิ่งและน้ำไหลเอ่อมาจากลำพลับพลา เอ่อท่วมพื้นที่นาข้าวขยายเป็นวงกว้างในพื้นที่ตำบลสระขุด เมืองบัว ยะวึก กระเบื้อง ศรีณรงค์ ชุมพลบุรี นาหนองไผ่ และหนองเรือ คาดว่านาข้าว เสียหาย 8,700 ไร่ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 3,500 ครัวเรือน และหากว่ายังมีฝนตกในพื้นที่ซึ่งจะทำให้น้ำปริมาณสูงขึ้นมากน้ำอาจจะเอ่อท่วมเส้นทางสัญจรและบ้านเรือนของประชาชน ทั้งนี้ อำเภอชุมพลบุรีได้เตรียมความพร้อมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยจัดเตรียมกำลัง อปพร. จำนวน 500 นาย เรือท้องแบน 22 ลำ กระสอบทราย 4,000 กระสอบ ถุงยังชีพ 1,800 ถุง และอาสาปศุสัตว์ได้จัดเตรียมที่อพยพยสัตว์ไว้ที่ปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว 
          สำหรับอำเภอท่าตูมมีปริมาณน้ำมากจากภาวะล้นตลิ่งของแม่น้ำมูลและน้ำไหลเอ่อจากลำพลับพลา เอ่อท่วมขังในพื้นที่นาข้าวของตำบลทุ่งกุลา พรมเทพ โพนครก หนองบัว บะ หนองเมธี และท่าตูม และน้ำเริ่มไหลเอ่อท่วมเส้นทางสัญจรแล้ว ส่วนอำเภอ รัตนบุรี น้ำที่เอ่อล้นมาจากระดับน้ำในแม่น้ำมูลล้นตลิ่งทำให้มีปริมาณน้ำมาก เอ่อท่วมพื้นที่นาข้าวบริเวณที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ตำบลทับใหญ่ หนองบัวทอง กุดขาคีม และดอนแรด คาดว่า ปริมาณน้ำจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรขยายวงกว้างมากขึ้น

28 กันยายน 2554

สสช. ส่งเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลผู้ประสบเหตุอาชญากรรม

นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกเก็บข้อมูลผู้ประสบอาชญากรรม ระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม ๒๕๕๔ พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ 

ปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น มีรูปแบบที่หลากหลายและสลับซับซ้อนมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐยังขาดข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ การสำรวจในครั้งนี้เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ถูกกระทำในอาชญากรรมพื้นฐานต่างๆ ๔ ประเภท ได้แก่ การถูกกระทำต่อทรัพย์สินของตนเอง/ครอบครัว การถูกกระทำต่อชีวิต/ร่างกาย การถูกกระทำทางเพศ และการถูกกระทำเกี่ยวกับข้อมูล/เอกสารส่วนตัว เพื่อให้ภาครัฐและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมได้มีข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ปรับปรุงนโยบาย และติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ได้แก่ ข้อมูลทั่วไปของผู้ถูกกระทำเวลา สถานที่ ความเสียหาย และผลกระทบจากการถูกกระทำ การรายงานเหตุต่อเจ้าหน้าที่ การติดต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งลักษณะของผู้กระทำผิด เช่น การรู้จักกับผู้ถูกกระทำ และการเป็นสมาชิกแก๊งหรือกลุ่มอันธพาล เป็นต้น สำนักงานสถิติแห่งชาติขอความร่วมมือผู้ตอบสัมภาษณ์โปรดให้ข้อมูลที่เป็นจริงโดยข้อมูลที่ได้รับจะถูกเก็บเป็นความลับ และจะนำเสนอผลสำรวจในภาพรวมเท่านั้น นายวิบูลย์ทัต กล่าว

27 กันยายน 2554

ก.ไอซีที อัพเกรดโปรแกรมเฝ้าระวังภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ตไม่เหมาะสม


นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึง โครงการจัดการดูแลและเฝ้าระวังภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสม ว่า หลังจากที่กระทรวงไอซีที ได้ดำเนินโครงการจัดทำโปรแกรมเฮ้าส์คีปเปอร์ เพื่อป้องกันภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ และเกมคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสม พบว่าได้รับการตอบรับจากหน่วยงาน สถานศึกษา คณาจารย์ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และประชาชนที่สนใจเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้แสดงความจำนงขอโปรแกรมไปใช้งานมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมทั้งยังมีการเรียกร้องขอให้มีการดูแลและปรับปรุงโปรแกรมให้ทันสมัย  อยู่เสมอ เพื่อที่ผู้ปกครองและโรงเรียนต่างๆ จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการป้องกันสื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมและดูแลการใช้งานคอมพิวเตอร์ของเยาวชน
            “กระทรวงฯ เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวมีประโยชน์ต่อสังคมและประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรงเรียน สถานศึกษา และเยาวชนที่เป็นผู้ใช้คอมพิวเตอร์ จึงได้จัดทำโครงการปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพ จัดการดูแลระบบ และเผยแพร่แนวทางป้องกันภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสมสำหรับ ประชาชนทั่วประเทศขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความรู้ กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและสร้างภูมิคุ้มกันภัยที่แฝงมากับการใช้เครื่อง คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งขยายผลการดำเนินการให้ประชาชนโดยทั่วไปมีโอกาสได้เข้าถึงมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีเครื่องมือสำหรับใช้ป้องกันเยาวชนและตนเองจากเว็บไซต์ที่ ไม่เหมาะสมต่างๆ รวมถึงมีแหล่งเครื่องมือ และสามารถเข้าถึงช่องทางการดาวน์โหลดเครื่องมือป้องกันตนเองและบุตรหลานจาก ภัยแฝงทางอินเทอร์เน็ตได้  เพื่อให้เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพสามารถสร้าง สรรค์สังคมที่ดีได้ต่อไป” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
           การจัดทำโครงการดังกล่าวเป็นการปรับปรุงกระบวนการและขั้นตอนการดูแลเฝ้า ระวังให้เหมาะกับการใช้งาน และมีฐานข้อมูลที่ทันสมัย โดยกระทรวงฯ ได้ปรับปรุงโปรแกรมเฮ้าส์คีปเปอร์ เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานมากขึ้น พร้อมเพิ่มสมรรถนะของกระบวนการและขั้นตอนการดำเนินงานให้ทันสมัย และเหมาะสมกับการใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (32bit) ได้แก่ XP, Vista และ Windows 7 เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังสามารถทำงานร่วมกับบราวเซอร์ต่างๆ ในปัจจุบัน เช่น IE, Firefox และ Chrome ได้ รวมทั้งสามารถปรับปรุงข้อมูลรายการเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมเพิ่มเติมได้ด้วย
           น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กระทรวงฯ ได้จัดทำโปรแกรมดังกล่าวเพื่อแจกจ่ายสำหรับการใช้งานจำนวน 10,000 ชุด และจะมีการจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้สู่ประชาชน รวมทั้งกระตุ้นให้รู้ถึงภัยแฝงและการป้องกันตนจากการใช้งานคอมพิวเตอร์หรือ อินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสมสำหรับประชาชนและสถานศึกษาทั่วประเทศ  โดยหวังว่าโครงการฯ นี้ จะช่วยให้เกิดเครือข่ายป้องกันเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมของภาคประชาชนและภาครัฐ ในรูปแบบสมัครใจ ซึ่งจะเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด” 


คุณสมบัติโปรแกรม

  • ป้องกันการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ผู้ดูแลสามารถกำหนดเพิ่มได้เอง โดยสามารถกำหนด รูปแบบให้เหมาะสม สำหรับผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์แต่ละคนได้
  • กำหนดเวลาใช้งานของผู้ใช้แต่ละคน โดยสามารถระบุตารางเวลา แยกเป็นตารางเวลาใช้งานอินเทอร์เน็ต และตารางเวลาการใช้งานโปรแกรม
  • กำหนดให้สามารถบันทึกประวัติการใช้งานของผู้ใช้แต่ละคน เก็บไว้ได้ และยังสามารถกำหนดให้ส่งประวัติการใช้งานดังกล่าวไปยังอีเมลที่ระบุไว้ได้ อีกด้วย
  • ป้องกันการเข้าไปแก้ไขข้อมูลที่ไม่ควรถูกเปิดเผย เช่น ประวัติการใช้งานข้อมูลเว็บไซต์หรือโปรแกรมที่ถูกจำกัดการใช้งาน รวมไปถึงป้องกันการถอดถอนโปรแกรม
  • กำหนดการใช้งานของโปรแกรมต่างๆ โดยสามารถที่จะระบุว่าผู้ใช้แต่ละคนสามารถใช้งานโปรแกรมได้หรือไม่

ดาวน์โหลดโปรแกรม
Download โปรแกรมเฮาส์คีปเปอร์ 2011
Beta Version 1.0

18 กันยายน 2554

กีฬาสถิติสัมพันธ์ครั้งที่ 5


ดูภาพเพิ่มเติมได้ที่ http://goo.gl/wk1SA

16 กันยายน 2554

หนี้1.36แสนต่อครัวเรือน'นอกระบบ'หด

สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดผลสำรวจครัวเรือน ครึ่งปี 2554 พบ 57% เป็นหนี้ โดยเฉลี่ย 136,562 บาทต่อครัวเรือน แต่ไม่น่าห่วงเพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ รายได้ยังสูงกว่าค่าใช้จ่าย 

รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยถึงผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนช่วง 6 เดือนแรกปี 2554 ว่า ครัวเรือน 56.9% มีหนี้สิน โดยมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 136,562 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ 74.6% เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือน คือซื้อบ้าน/ที่ดิน 36.4% ใช้ในการอุปโภคบริโภค 36.1% และหนี้เพื่อใช้ในการศึกษา 2.1% ขณะที่หนี้ใช้ทำการเกษตรจะสูงกว่าใช้ทำธุรกิจถึง 4.5% ซึ่งส่วนใหญ่ครัวเรือนจะเป็นหนี้ในระบบ โดยมีครัวเรือนที่มีหนี้ในระบบอย่างเดียว 87.9% และครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ 6.1% สำหรับครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบอย่างเดียวมีเพียง 6.0% และพบว่าจำนวนเงินเฉลี่ยที่เป็นหนี้ในระบบสูงกว่านอกระบบถึง 32 เท่า 

ทั้งนี้ ในส่วนของรายได้ครัวเรือนพบว่า ครัวเรือนทั่วประ เทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 23,544 บาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงาน 71.9% จากการทำธุรกิจ 20.4% และจากการทำการเกษตร 12.8% ส่วนค่าใช้จ่ายมีเฉลี่ยเดือนละ 17,861 บาท โดยค่าใช้จ่าย 32.8% เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งในจำนวนนี้มีค่าเครื่องดื่มที่เป็นแอลกอฮอล์ 0.6% รองลงมาเป็นค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน 20.8% ใช้เกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะ 19.1% ใช้ส่วนบุคคล/เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 6.5% ในการสื่อสาร 3.1% เป็นต้น 

เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงของรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือนทั่วประเทศ ปี 2552-54 พบว่าเพิ่มขึ้น แต่มีอัตราการเพิ่มที่แตกต่างกัน โดยรายได้มีอัตราการเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าใช้จ่าย 6.1% และ 5.0% ต่อปี ทำให้สัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้ลดลงจาก 77.5% ในปี 2552 เป็น 75.9% ในปี 2554 สำหรับหนี้ของครัวเรือน พบว่าครัวเรือนที่เป็นหนี้มีจำนวนลดลง 3.3% แต่จำนวนเงินที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้น 0.7% ส่วนความเหลื่อมล้ำของรายได้มีแนวโน้มลดลง โดยกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดลดลง 0.1% ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดมีส่วนแบ่งของรายได้เพิ่มขึ้น 0.5%

7 กันยายน 2554

มหกรรมข้าวหอมมะลิไทย

กระทรวงพาณิชย์ ร่วม จ.สุรินทร์ กำหนดจัดงาน “มหกรรมข้าวหอมมะลิไทย” 9-10 ก.ย.นี้ พร้อมเชิญเอกอัครราชทูต 31 ประเทศ พร้อมผู้นำเข้า-ส่งออกข้าวหอมมะลิตลาดต่างประเทศ และผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศมาร่วมงานอย่างยิ่งใหญ่ นำร่องครั้งแรกที่ จ.สุรินทร์
      
        นายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน “ มหกรรมข้าวหอมมะลิไทย E-san Thai Hom Mali Rice Convention : Surin ” มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 ก.ย. 2554 นี้ ณ โรงแรมทองธารินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์
      
       นายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า จ.สุรินทร์ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จัดงานมหกรรมข้าวหอมมะลิไทย ไทย E-san Thai Hom Mali Rice Convention : Surin ขึ้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพการตลาดข้าวหอมมะลิไทย ภายใต้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าภายในประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน ปี 2554 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ด้านคุณภาพข้าวและ มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย และเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดข้าวหอมมะลิไทย โดยได้เชิญเอกอัครราชทูตประเทศ ที่นำเข้าข้าวหอมมะลิไทย จำนวน 31 ประเทศ , ผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิในต่างประเทศ , ผู้ส่งออกข้าวไปต่างประเทศ และผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศมาร่วมงานด้วย
      
       ในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การแสดงและจำหน่ายข้าวหอมะลิของทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และอีก 3 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา นอกจากนั้นยังมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ , การแสดงนิทรรศการ , การแสดง แสง สี เสียง , การจัดเยี่ยมชมการเพาะปลูกในแปลงนา และการแปรรูปข้าวหอมมะลิที่โรงสีข้าว รวมทั้งการจัดเสวนาแนวทางการพัฒนาการผลิตและการตลาดข้าวหอมมะลิไทย ในหัวข้อ “ข้าวหอมมะลิไทยก้าวอย่างไรให้ยั่งยืน” เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการจัดงานมหกรรมข้าวหอมมะลิไทยนำร่องในระดับประเทศขึ้นครั้ง แรกที่ จ.สุรินทร์

3 กันยายน 2554

งานผ้าไหมนครชัยบุรินทร์สืบสานตำนานไหมอีสานใต้

จังหวัดสุรินทร์ เชิญเที่ยวงานผ้าไหมนครชัยบุรินทร์สืบสานตำนานไหมอีสานใต้ 7 – 11 กันยายน นี้ ณ บริเวณลานจอดรถ สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดสุรินทร์

นายกสิณ นวลโคกสูง พัฒนาการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์ กำหนดการจัดแสดงและจำหน่ายผ้าไหมระดับภูมิภาคอาเซียน “ASEAN Silk Heritage” ภายใต้ชื่องาน “ผ้าไหมนครชัยบุรินทร์ สืบสานตำนานไหมอีสานใต้” ระหว่างวันที่ 7 – 11 กันยายน 2554 ณ บริเวณลานจอดรถ สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดสุรินทร์ (สวนใหม่ อบจ.) เพื่อยกระดับการพัฒนาศักยภาพทางการตลาดและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับกลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการไหมในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ให้เป็นที่รู้จัก รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนากระบวนการผลิตผ้าไหมให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าไหมที่สำคัญในประเทศต่อไป พัฒนาการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ในงานดังกล่าว กลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการไหมในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ คือ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 มี 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ได้นำผลิตภัณฑ์จากไหมร่วมจัดแสดงและจำหน่วยกว่า 100 บูธ เป็นแบบบูธติดแอร์ ภายในบริเวณจัดงาน โดยมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ การจัดนิทรรศการแสดงถึงวัฒนธรรมไหมสุรินทร์ ผ้าไหมในราชสำนัก ผ้าไหมชาติพันธุ์สุรินทร์(เขมร,ลาว,กูย) ผ้าไหมกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ วิวัฒนาการไหม และการส่งเสริมภูมิปัญญาผ้าไหมไทย การจัดแสดงวิวัฒนาการไหม และการส่งเสริมภูมิปัญญาผ้าไหมไทยในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ การจัดบูธแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไหมของกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ และบูธแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP ประเภทอื่นที่มีชื่อเสียง และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมอีสานใต้

28 กรกฎาคม 2554

ปชช.มีความรู้โครงการชุมชนพอเพียง-แนะรัฐเน้น ศก.พอเพียง

นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับโครงการชุมชนพอเพียง พ.ศ.2554 ที่ดำเนินการโดยสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน สำนักงานสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศ ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 78 ทราบเกี่ยวกับโครงการชุมชนพอเพียง จากสื่อโทรทัศน์มากที่สุด และไม่ทราบข้อมูล ร้อยละ 22 โดยประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทราบเกี่ยวกับโครงการชุมชนพอเพียง มากที่สุดถึงร้อยละ 83.1 รองลงมาเป็นภาคเหนือ ภาคใต้ กรุงเทพมหานคร และภาคกลาง ตามลำดับ
        ขณะที่การใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต พบว่า ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ประโยชน์จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้สูงที่สุดในประเทศ ร้อยละ 83.7 และกรุงเทพมหานคร มีการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงน้อยที่สุด
        ส่วนโครงการที่ประชาชนคัดเลือกเป็นโครงการชุมชนพอเพียงในหมู่บ้าน 3 อันดับแรกคือ การเกษตร การส่งเสริมอาชีพ รายได้ และการสาธารณูปโภค เนื่องจากเห็นว่าให้ประโยชน์ด้านการสร้างงาน สร้างอาชีพมากที่สุด รองลงมา ช่วยให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้
        นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้ภาครัฐดำเนินโครงการชุมชนพอเพียง และนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ข่าวสารเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ทั่ว ถึง

19 กรกฎาคม 2554

ยาเสพติดปัญหาหนักอก!

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผย ยาเสพติดกำลังกลายเป็นปัญหาหนักอกหนักใจประชาชนมากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ว่า ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนด้านการจัดระเบียบสังคม เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้วางแผนดำเนินการและกำหนดมาตรการจัดระเบียบสังคมเพื่อให้สังคมน่าอยู่และคนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ซึ่งพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหายาเสพติด มากสุดถึง 83.3% รองลงมาคือการทุจริตคอรัปชัน 56.4% อันดับสาม คือ อาชญากรรม 33% ตามด้วยปัญหาอบายมุข เช่น การพนัน หวยใต้ดิน 25.4% และการประพฤติผิดหรือมั่วสุมทางเพศ 25.3%

ส่วนเรื่องที่เห็นว่ารัฐบาลควรดำเนินการ 3 เรื่องแรก คือ การกวดขัน สอดส่อง ควบคุมสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดยาเสพติดของคนในชุมชนหรือหมู่บ้าน 62.3% จัดให้มีสถานที่ออกกำลังกาย 58.1% และการร่วมกันของภาครัฐเพื่อกวดขันสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของยาเสพติด 56.9% สถานที่ที่ประชาชนต้องการให้รัฐเข้าไปดูแลแก้ไขมากที่สุด คือ สถานบันเทิงหรือสถานบริการมีมากถึง 61.6% รองลงมาคือร้านเกมหรือร้านอินเตอร์เน็ต 53.8% แหล่งอบายมุข เช่น สถานที่รับซื้อหวยใต้ดินหรือรับพนันบอล 46% ชุมชนแออัด 30.3% หอพัก บ้านเช่า อพาร์ตเมนต์ 23.8% พื้นที่ของผู้มีอิทธิพล 23% สถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท 15.4% และโรงแรมหรือรีสอร์ต 5.3% อย่างไรก็ตามประชาชนส่วนใหญ่ 62.4% เห็นว่ารัฐบาลต้องเข้มงวดจัดระเบียบสังคมให้น่าอยู่ มีเพียง 37.5% ที่เห็นว่าทำดีอยู่แล้ว และ 0.1% เห็นว่าเข้มงวดมากเกินไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

15 กรกฎาคม 2554

เผยผลสำรวจผู้ชายภาคใต้แชมป์ 'สิงห์อมควัน'

ขณะที่ผู้หญิงใน กทม.มีอัตราการสูบบุหรี่ที่สูงขึ้นมากเมื่อ เทียบกับภาคอื่นๆ  เหตุบริษัทผลิตบุหรี่มีการผลิตบุหรี่รสชาติ ต่างๆ เช่น ช็อกโกแลต สตอเบอร์รี่...

เมื่อวันที่ 13ก.ค. ที่ รร.สยามซิตี้ มีการเสวนามาตรการควบคุมยาสูบในสถานศึกษา โดย ทพญ.ศิริวรรณพิทยรังสฤษฏ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ สำนักโรคไม่ติดต่อกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่สำรวจการสูบบุหรี่ในเยาวชนไทยอายุ 13-15 ปีทั่วประเทศเมื่อปี 2552 จำนวน 7,649 คน พบว่าเยาวชนสูบบุหรี่ทั้งชนิดมีควัน และไม่มีควันร้อยละ 15.6 แต่ที่น่าห่วงคือร้อยละ 28.9 คิดว่าการสูบบุหรี่ทำให้มีเพื่อนมากขึ้น และร้อยละ 8.3 คิดว่าทำให้มีเสน่ห์

อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีถึงร้อยละ 75.5 ที่ต้องการเลิกบุหรี่ขณะเดียวกันเมื่อดูข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ สำรวจอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยอายุ 15-24ปี ระหว่างปี2547-2552 พบว่าในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-18ปี และกลุ่มอายุ 19-24 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่ที่สูงขึ้นโดยกลุ่มอายุ 15-18 ปี เพิ่มจากร้อยละ 7.25ในปี 2550 เป็นร้อยละ 7.62 ในปี 2552 ขณะที่ในกลุ่มอายุ19-24 ปี พบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นเช่นกันโดยในปี 2550อยู่ที่ร้อยละ 21.2 เพิ่มเป็นร้อยละ 22.1ในปี 2552 และเมื่อแยกอัตราการสูบบุหรี่ตามเพศ เป็นรายภาค พบว่าในเพศชายมีการสูบบุหรี่สูงที่สุดอยู่ที่ภาคใต้ร้อยละ 51.07 รองลงมาคือภาคอีสาน ร้อยละ 50.75ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้และความช่วยเหลือในการเลิกบุหรี่ และทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรบรรจุเรื่องโรคที่เกี่ยวกับบุหรี่เข้าไปใน หลักสูตรการเรียนการสอนด้วย

ทพญ.ศิริ วรรณ กล่าวด้วยว่า ยังพบตัวเลขที่น่าสนใจว่าผู้หญิงใน กทม.มีอัตราการสูบบุหรี่ที่สูงขึ้นมากเมื่อ เทียบกับภาคอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทผลิตบุหรี่มีการผลิตบุหรี่รสชาติ ต่างๆ เช่น ช็อกโกแลต สตอเบอร์รี่ เพื่อหวังกลุ่มเป้าหมายไปที่ผู้หญิงโดยเฉพาะซึ่งเป็นการนำเข้าสู่ประเทศไทย อย่างผิดกฎหมายทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของผู้หญิงกลุ่มอายุในกทม.กลุ่มอายุ 15-18ปี เพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 0.45 ในปี2550 เป็นร้อยละ2.05 ในปี 2552 และกลุ่มอายุ 19-24ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีร้อยละ 0.42 เป็นร้อยละ0.94 ในปี 2552

ด้านนางจุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ศธ.ได้บรรจุเรื่องโรคที่เกี่ยวกับบุหรี่เข้าไปในหลักสูตรการเรียน การสอนแล้วและให้สถานศึกษาทุกแห่งดำเนินการและทางสำนักงานคณะกรรมการการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แจ้งขอความร่วมมือไปยังทุกเขตพื้นที่การศึกษาแล้ว

แห่เทียนพรรษาสุรินทร์ยิ่งใหญ่ขบวนช้างยาวเป็นกิโล


สุรินทร์เปิดงานมหกรรมแห่เทียนพรรษา 84 ไอยรา เทิดไท้องค์ราชาของแผ่นดินสุดยิ่งใหญ่ ตั้งขบวนแห่ฯยาวเยียดเกือบ 1 กิโลเมตรแต่ละขบวนต้นเทียนแกะสลักลวดลายวิจิตรงดงาม นำหน้าด้วยขบวนช้างหลายสิบเชือก…

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 14 ก.ค. นายเสริม ไชยณรงค์ ผวจ.สุรินทร์ พร้อมหน.ส่วนราชการ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว ร่วมพิธีเปิดงานมหกรรมแห่เทียนพรรษา 84 ไอยรา เทิดไท้องค์ราชาของแผ่นดิน ที่ ททท.ร่วมกับจังหวัดสุรินทร์จัดขึ้น ที่หน้าค่ายวีระวัฒน์โยธินจังหวัดทหารบกสุรินทร์ หลังเปิดงานขบวนแห่เทียนพรรษาจากคุ้มวัดในอำเภอเมืองสุรินทร์และต่างอำเภอ ที่ตั้งขบวนยาวเยียดเกือบ 1 กิโลเมตร แต่ละขบวนต้นเทียนแกะสลักลวดลายวิจิตรงดงาม นำหน้าด้วยขบวนช้างหลายสิบเชือก ที่ประดับตกแต่งสวยงามด้วยแสงไฟระยิบระยับ สลับด้วยขบวนเทียนแต่ละคุ้มวัด เคลื่อนออกจากหน้าค่ายวีระวัฒน์โยธิน จังหวัดทหารบกสุรินทร์ ผ่านถนนหลายสายในเขตเทศบาล มาที่อนุสาวรีย์พระยาภักดีศรีณรงค์จางวาง เขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ รอบบริเวณมีการแสดงพื้นเมืองของนักเรียน โดยมีประชาชน นักท่องเที่ยวร่วมชมขบวนแห่อย่างล้นหลาม ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก

นายเสริม เปิดเผยว่า งานมหกรรมแห่เทียนพรรษา 84 ไอยรา เทิดไท้องค์ราชาของแผ่นดิน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 นอกจากขบวนแห่เทียนด้วยช้างแล้ว ยังจัดพิธีเจริญพระปริตร (พระพุทธมนต์) และอธิษฐานจิต โดยนิมนต์พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ จำนวน 85 รูป สวดพระปริตรถวายพระราชกุศล เพื่อถวายพระพรชัยมงคลและถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ตามมติมหาเถรสมาคม และมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชนในพระบรมราชินูปถัมภ์ที่ให้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติทั่วทั้งประเทศ

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์

11 กรกฎาคม 2554

สารสถิติประจำเดือนเมษายน- มิถุนายน 2554


เรื่องเด่นในเล่ม

  • ก้าวย่างต่อไปสู่ปี 49
  • สถิติยุคใหม่... ก้าวต่อไปของ สสช
  • อำลาเครื่องคอมพิวเตอร์ เมนเฟรม
  • สถิติน่ารู้
  • แวดวง สสช
  • เสียงจากภูมิภาค
ดาวน์โหลดที่นี่ฟรี!

6 กรกฎาคม 2554

ร้องรัฐเร่งคุมราคาสินค้า

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้สรุปผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความก้าวหน้าของประเทศ พ.ศ. 2554 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการจัดทำความก้าวหน้าของประเทศ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดความก้าวหน้าของประเทศ และเพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประกอบการดำเนินการต่อไป โดยได้สำรวจความคิดเห็นโดยการสุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 106,620 คน 
    
ทั้งนี้จากการสอบถามแนวทางที่ประชาชนต้องการให้ภาครัฐดำเนินการเรื่องความเจริญก้าวหน้าของประเทศ พบว่าประชาชนต้องการให้เข้ามาควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมากที่สุดถึง 18.3% รองลงมาคือสร้างความปรองดองสามัคคีในสังคม 16.2% อันดับสามคือ การพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าและมั่นคง 14.3 % อันดับสี่คือ พัฒนาด้านการศึกษาให้มีคุณภาพ 14% อันดับห้าคือ การสร้างความยุติธรรมและโปร่งใสในสังคม 13.4%
    
ส่วนที่ประชาชนต้องการน้อยที่สุดคือการส่งเสริมการท่องเที่ยว 0.3% รองลงมาคือการหางานรองรับนักศึกษาที่จบใหม่ 1.1% การพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าเท่าเทียมนานาประเทศ 1.7% อันดับสี่คือ การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ 1.8% และจัดการปัญหาด้านขยะชุมชนและหมู่บ้าน 1.8% 
    
สำหรับผลการสำรวจความเห็นด้านความเจริญก้าวหน้าของประเทศ 5 อันดับแรก พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึง 61.6% เห็นว่าเป็นด้านการศึกษาและการเรียนรู้ รองลงมาคือการทำงานและการประกอบอาชีพ 59.8% อีก 57% เห็นว่าเป็นฐานะทางเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพมีเพียง 41.7% และที่น้อยที่สุดพบว่าเป็นเรื่องของที่อยู่อาศัยและระบบสาธารณูปโภค 33.1%
    
นอกจากนี้ความเจริญก้าวหน้าของประเทศด้านฐานะเศรษฐกิจใน 5 อันดับแรก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 76% เห็นว่าประชาชนมีงานทำ ขณะที่ 75.2% เห็นว่าประชาชนมีรายได้มากกว่ารายจ่าย อีก 64.8% เห็นว่ามีภาระหนี้สินครัวเรือนลดลง 56.7% เห็นว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ขณะที่มีเพียง 41.5% เท่านั้นที่เห็นว่าค่าครองชีพของตนอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเฉพาะประชาชนในภาคเหนือที่เห็นด้วยน้อยที่สุดเพียง 39.8% รองลงมาคือ กท. และใต้ ที่เห็นเท่ากันคือ 40.4% ภาคอีสาน 40.6%
    
รายงานข่าวกล่าวด้วยว่า ส่วนความเจริญก้าวหน้าของประเทศด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ใน 5 อันดับแรกนั้น ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าช่องว่างรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยลดลงจริง 69.3% รองลงมาคือ ความยากจนลดลง 65.8% ส่วนที่เห็นว่าประชาชนทุกกลุ่มได้รับโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทรัพยากรและการบริการของภาครัฐที่เหมาะสม มี 55% อีก 51.9% เห็นว่าการปฏิบัติของภาครัฐและสังคมที่มีต่อประชาชนเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน ขณะที่ 48.1% ที่เห็นว่าชุมชนและท้องถิ่นได้รับการจัดให้มีระบบสวัสดิการที่เพียงพอครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตายอย่างเท่าเทียมและเหมาะสม
    
อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องความเจริญก้าวหน้าของประเทศด้านความสามัคคีและความสมานฉันท์พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 78.8% ที่เห็นว่าการไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคมตามด้วยความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมลดลง


ที่มา: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=310&contentID=149338

1 กรกฎาคม 2554

แผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย

ประเทศไทยเริ่มมีการดำเนินงานเกี่ยวกับสถิติของประเทศมาประมาณ 100 ปี โดยมีสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นหน่วยสถิติกลาง ผลิตสถิติในแทบทุกสาขาโดยส่วนใหญ่เป็นสถิติจากการสำรวจ นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานภาครัฐจำนวนมากที่ผลิตสถิติจากระบบการรายงาน งานทะเบียน โดยส่วนใหญ่เป็นสถิติที่เกี่ยวข้องกับภารกิจและการดำเนินงานของหน่วยงาน จนถึงปัจจุบันมีการผลิตสถิติในเกือบทุกสาขาโดยหน่วยงานภาครัฐจำนวนมาก แม้ว่าการผลิตสถิติภายใต้ระบบดังกล่าว มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นการพัฒนาที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการพัฒนาเพื่อตอบสนองประโยชน์ในการใช้งานของแต่ละหน่วยงานซึ่งมีข้อจำกัดด้านบุคลากร งบประมาณ ฯลฯ แตกต่างกันไป ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านมาตรฐานและคุณภาพของงานด้านสถิติ และในบางกรณีก็มีความซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองในการดำเนินงาน

พระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ มีหน้าที่จัดทำแผนแม่บทเกี่ยวกับการดำเนินงานทางสถิติของหน่วยงานภาครัฐ ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการพัฒนาประเทศ สำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานระดับกระทรวงทุกแห่งจัดทำแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย โดยเน้นกระบวนการหารือและการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

จากการวิเคราะห์ลักษณะปัจจัยภายในและภายนอก ( SWOT Analysis) ของระบบสถิติในปัจจุบัน สามารถสรุปเป็นแนวทางในการจัดทำ แผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทยได้ดังนี้

  •  ใช้พระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 สร้างความชัดเจนเชิงนโยบายด้านระบบข้อมูลสถิติของประเทศ
  • ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการผลิตและให้บริการ
  • พัฒนาคุณภาพโดยการยกระดับมาตรฐานข้อมูล และพัฒนาประสิทธิภาพโดยการ
    ลดความซ้ำซ้อน และลดภาระงาน
  • สร้างเครือข่ายกับทุกภาคส่วน
  • ส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลมากขึ้น
  • พัฒนาบุคลากรที่รับผิดชอบงานข้อมูลสถิติ

15 มิถุนายน 2554

เลิกเสียที...บุหรี่ไม่เท่ห์อย่างที่คิด!!!

บุหรี่...มหัตภัยเงียบที่ทุกคนรู้จักดี แม้ทุกคนจะรู้ถึงพิษภัยของการสูบบุหรี่ และองค์การอนามัยโลก ได้ให้ความสำคัญและมีการจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลกขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2531 ด้วยเล็งเห็นถึงอันตรายของบุหรี่และสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่นั้น แต่จากรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่า ในปัจจุบันประชากรทั่วโลกมากกว่า 5 ล้านคนต่อปี ตายด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว มะเร็ง และโรคปอด เป็นต้น นอกจากนี้ยังไม่นับรวมถึงการตายจากการได้รับควันบุหรี่มือสองอีก 600,000 คน ซึ่ง 1 ใน 4 นั้นเป็นเด็ก
 
ประเทศไทยเองได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้มีการรณรงค์ให้ลด ละ เลิกบุหรี่ รวมถึงกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ และการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า การสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปไม่ว่าจะสูบประจำหรือไม่ก็ตาม มีแนวโน้มดีขึ้นโดยลดลงจากร้อยละ 25.5 ในปี 2544 เหลือร้อยละ 20.7 ในปี 2552 และผู้ชายสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิงกว่า 20 เท่า อย่างไรก็ตามอาจเป็นเพราะผลจากการรณรงค์ที่ผ่านมาทำให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีการสูบบุหรี่ลดลง โดยผู้ชายลดลงจากร้อยละ 48.5 ในปี 2544 เหลือร้อยละ 40.5 ในปี 2552 สำหรับผู้หญิงลดลงจากร้อยละ 2.9 ในปี 2544 เหลือร้อยละ 2.0 ในปี 2552
แม้ว่าการสูบบุหรี่ของประชากรในวัยทำงาน และผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังพบว่า วัยรุ่นซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ยังมีแนวโน้มของการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นชายที่มีการสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเนื่องมาจากวัยรุ่นเป็นวัยที่มีพฤติกรรมอยากลองอยากรู้ และอาจได้รับอิทธิพลมาจากเพื่อนซึ่งชักชวนกันให้สูบ ประกอบกับการคิดว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งโก้เก๋อยู่ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมุ่งมั่นที่จะหาแนวทางการรณรงค์อย่างเข้มข้น และเจาะให้ถึงกลุ่มวัยรุ่นให้ได้ เพื่อให้วัยรุ่นเหล่านี้เข้าใจถึงโทษของบุหรี่ และปรับทัศนคติใหม่ให้ถูกต้องเพื่อป้องกันการเป็นนักสูบหน้าใหม่ ขณะเดียวกันก็เป็นกำลังใจให้ผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว สามารถลด หรือเลิกสูบบุหรี่ได้ในที่สุด

14 มิถุนายน 2554

'สถิติ' ปรับเวลาทำสำมะโนธุรกิจ นำร่องไอทีเก็บข้อมูลก่อนใช้จริง

       สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปรับเวลาจัดทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรมลงเหลือ 5 ปี อัปเดตข้อมูลธุรกิจเพื่อประโยชน์ของประเทศ ยืนยันข้อมูลไม่รั่วไหล วอนเอกชนร่วมทำงานเพื่อชาติ พร้อมนำร่องใช้ระบบ e - Service และ e - Questionnaire เก็บข้อมูล 
        นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ (คนกลาง) ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในจัดทำสำมะโนธุรกิจและ อุตสาหกรรมจากเดิมที่จัดทำทุกๆ 10 ปี ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติ มาเป็น 5 ปีแทน เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต มีผลให้โครงสร้างของธุรกิจการค้า การบริการและการผลิตเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะภาคการผลิตที่มีบทบาทอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของไทย โดยมีมูลค่าผลผลิตประมาณ 2 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพีในแต่ละปี ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานถึงประมาณ 5.8 ล้านคน ในขณะที่ภาคธุรกิจการค้าและบริการก็มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน เพราะมีมูลค่าผลผลิตประมาณ 1 ใน 5 ของจีดีพี มีการจ้างงานประมาณ 10 ล้านคน
     
       'สถิติและสารสนเทศเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของการประกอบการดังกล่าว จึงมีความจำเป็นสำหรับภาครัฐและเอกชนในการกำหนดนโยบายในการเพิ่มขีดความ สามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าโลกอย่างยิ่ง'
     
       ในช่วงปีระหว่างการจัดทำสำมะโน หน่วยงานต่างๆ จะต้องใช้ข้อมูลสำมะโนธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ ปี 2545 และสำมะโนอุตสาหกรรม ปี 2550 มาเป็นฐานในการคำนวณ เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปีหรือ 10 ปี โครงสร้างด้านเศรษฐกิจ มีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะภาคการผลิต และการดำเนินธุรกิจการค้าและบริการเพื่อให้ได้ฐานข้อมูลชุดใหม่มาใช้งาน มิฉะนั้นอาจทำให้การประมาณการผิดทิศทาง เกิดความคลาดเคลื่อนสูงและขาดความเชื่อมั่น ในการนำไปจัดทำตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น การจัดทำบัญชีประชาชาติของประเทศ (GDP) ดัชนีอุตสาหกรรมการผลิต ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาขายปลีก ตารางปัจจัยการผลิตของประเทศ เป็นต้น
     
       สำหรับการลงพื้นที่ในปี 2555 นี้ ทางสำนักงานฯ ได้แบ่งขั้นตอนการจัดเก็บข้อมูลออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก ระหว่างเดือนมีนาคมถึงสิ้นเดือนมิถุนายน โดยมีเจ้าหน้าที่ในนาม คุณมาดี ที่สวมเสื้อโปโลสีส้มจำนวน 1,500 คน เพื่อลงพื้นที่ สัมภาษณ์ผู้ประกอบการทั่วประเทศจัดทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรมเกี่ยวกับ ประเภทของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งทางด้านธุรกิจการค้าไม่ว่าจะค้าปลีกหรือค้า ส่ง ธุรกิจทางการบริการ การผลิต การก่อสร้าง การขนส่งทางบกและสถานที่เก็บสินค้า กิจกรรมด้านข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร และโรงพยาบาลเอกชน ส่วนในระยะที่ 2 ที่จะทำในปี 2555 นั้น จะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียด โดยจะสอบถามจากสถานประกอบการเฉพาะที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการค้าปลีก-ค้า ส่ง การบริการและการผลิต
     
       นายวิบูลย์ทัต กล่าวเพิ่มเติมว่า การ เปลี่ยนแปลงอีกหนึ่งอย่างซึ่งเรียกว่าเป็นมิติใหม่ของการทำสำมะโนก็ว่าได้ นั่นคือ การนำระบบ e - Service และ e - Questionnaire มาใช้ในบางพื้นที่เป็นการนำร่องเพื่อประเมินตามความเหมาะสมของระบบ ไม่ว่าจะเป็นผลดีผลเสีย และความสามารถในการลดขั้นตอน เวลา ค่าใช้จ่าย ข้อผิดพลาด รวมทั้งความสามารถในการประมวลผลเป็นรายวัน หากได้ผลดีก็จะขยายพื้นที่ต่อไป
     
       การนำเทคโนโลยีมาใช้จะทำให้การจัดทำสำมะโนมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นจากการลงพื้นที่ทำสำมะโนในปีนี้ก็ยังคงมี เหมือนครั้งก่อนๆ คือ บางพื้นที่น้ำท่วม แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่เพราะอย่างไรก็ตามยังสามารถดำเนินงานคืบหน้าไปได้ เกือบ 70% แล้ว
     
       'แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาก คือ สถานประกอบการบางแห่งยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลมากนัก บางแห่งเกรงว่าข้อมูลที่ให้ไปจะเกิดการรั่วไหล จึงขอให้ผู้ประกอบการมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่ให้มาจะไม่รั่วไหล ไม่เกี่ยวพันกับข้อกฎหมาย และไม่โยงใยเรื่องภาษี ข้อมูลรายสถานประกอบการจะถูกเก็บเป็นความลับ ไม่มีการนำไปเปิดเผยอย่างแน่นอน เพราะสำนักงานสถิติแห่งชาติจะนำไปประมวลเป็นยอดรวมทางสถิติและเสนอผลใน ภาพรวมเท่านั้น'


ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์

21 เมษายน 2554

13 ฟอนต์แห่งชาติ

ครม.เห็นชอบให้ทุกส่วนราชการเลิกใช้ฟอนต์ต่างชาติ บังคับใช้ 13 ฟอนต์ไทย ในงานราชการ เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยดำเนินการติดตั้งฟอนต์สารบรรณและฟอนต์อื่น ๆ ทั้งหมด จำนวน 13 ฟอนต์ ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (สอซช.) หรือ SIPA และกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มเข้าไปในระบบปฏิบัติการ Thai OS (Thai Operating System) และใช้ฟอนต์ดังกล่าวแทนฟอนต์เดิม ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ โดยให้ติดตั้งและใช้งานให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2553

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก ปัจจุบันส่วนราชการจำนวนมากมีการใช้ฟอนต์ที่หลากหลาย ไม่มีมาตรฐานในเอกสาร-ทางราชการ อีกทั้งยังมีหน่วยงานราชการหลายแห่งใช้มาตรฐานฟอนต์ของบริษัทเอกชนที่ผูกขาดลิขสิทธิ์ เช่น Angsana อาจมีปัญหาเรื่องการฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์ได้ด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้มีการพัฒนาและมีการประกวดแข่งขันฟอนต์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ Open Source Software ที่เป็นซอฟต์แวร์เสรีให้ส่วนราชการไทยประกาศมาตรฐานเอกสารดิจิตัลและรูปแบบของฟอนต์ที่ไม่ขึ้นกับระบบปฏิบัติการและลิขสิทธิ์ของบริษัทใด ๆ เพื่อความภาคภูมิใจในความเป็นชาติและเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย ซึ่งในขณะนี้มีฟอนต์ที่ส่วนราชการไทยสามารถเป็นเจ้าของและพร้อมแจกจ่ายให้กับผู้ประสงค์จะใช้งานรวม 13 ฟอนต์ ดังนี้
ตัวอย่างฟอนต์ TH SarabunPSK ขนาด 14 pt 18 pt และ 32 pt


20 เมษายน 2554

สำนักงานสถิติแห่งชาติประกาศผลสำมะโน 65.4 ล้านคน

ประชากรประเทศไทยเพิ่มแต่อัตราการเกิดลด กรุงเทพมหานครยังครองแชมป์จังหวัดที่มี
จำนวนประชากรมากที่สุดและมีความหนาแน่นของประชากรสูงสุด

นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผย ผลเบื้องต้นสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2553 ว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากร ณ วันที่ 1 กันยายน 2553 จำนวน 65.4 ล้านคน เป็นประชากรหญิง 33.3 ล้านคน (ร้อยละ 50.9) และเป็นประชากรชาย 32.1 ล้านคน (ร้อยละ 49.1) ซึ่งมากเป็นลำดับ 4 ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากประเทศอินโดนีเซีย 240 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 92 ล้านคน และเวียดนาม 88 ล้านคน ตามลำดับ


นายวิบูลย์ทัต กล่าวว่า จากการทำสำมะโนประชากรทุก 10 ปี พบว่าประเทศไทยมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทุกรอบโดยอัตราการเพิ่มของประชากรแต่ละรอบแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม พบว่า อัตราการเพิ่มของประชากรในประเทศไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา คือ อัตราการเพิ่มของประชากรในระหว่างปี 2503-2513 เป็นร้อยละ 2.70 ต่อปี ระหว่างปี 2533-2543 เป็นร้อยละ 1.05 ต่อปี และระหว่างปี 2543-2553 ลดลงเหลือร้อยละ 0.77 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากประเทศไทยมีอัตราการเกิดที่ลดต่ำล อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

ประเทศไทยมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 20.3 ล้านครัวเรือน โดยมีขนาดครัวเรือนเฉลี่ย 3.2 คน ซึ่งมีขนาดเล็กลงเมื่อเทียบกับสำมะโนประชากรและเคหะ ปี 2543 ซึ่งมีขนาดครัวเรือนเฉลี่ย 3.9 คน ภาคที่มีขนาดครัวเรือนเฉลี่ยใหญ่สุด คือภาคใต้ 3.54 คน รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.53 คน ภาคเหนือ 3.1 คน ภาคกลาง 3.0 คน และกรุงเทพมหานครมีขนาดครัวเรือนเฉลี่ยเล็กสุด 2.9 คน

ในเรื่องความหนาแน่น ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 513,120 ตารางกิโลเมตร มีความหนาแน่นของ
ประชากร โดยเฉลี่ย 127.5 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งหนาแน่นกว่า 10 ปีที่แล้ว (118.1 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร) เป็นที่ทราบกันดีว่า ประชากรมีการย้ายถิ่นฐานมาหาแหล่งงานในกรุงเทพมหานคร จังหวัดในปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก จังหวัดที่มีความเจริญ มีสถานศึกษา โรงพยาบาล สถานบริการทางด้านสาธารณสุขการคมนาคมขนส่งสะดวกสบายจะมีประชากรอยู่กันหนาแน่น จึงส่งผลทำให้จังหวัดเหล่านี้มีความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ยสูงขึ้น เช่นกรุงเทพมหานคร มีความหนาแน่นของประชากรสูงสุด เพิ่มจาก 4,028.9 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตรในปี
2543 เป็น 5,258.6 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตรในปี 2553 จังหวัดที่มีความหนาแน่นของประชากรโดยเฉลี่ยสูงที่สุด 10 อันดับ คือ กรุงเทพมหานคร รองลงมา คือ จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ภูเก็ต ปทุมธานี สมุทรสงคราม นครปฐม ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา ตามลำดับ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าว

10 เมษายน 2554

สถจ.สุรินทร์ เดินหน้าเก็บข้อมูลสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2554 นางธัญชนก  ณ ระนอง สถิติจังหวัดสุรินทร์ และ
"คุณมาดี" ได้ประชาสัมพันธ์ โครงการสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม กับส่วนราชการ
หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในงาน “สภากาแฟจังหวัดสุรินทร์” 

2 มีนาคม 2554

สนง.สถิติจัดทำ“สำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม” ย้ำความมั่นใจข้อมูลไม่รั่วไหล ไม่โยงใยข้อกม.และภาษี

altสำนักงานสถิติแห่งชาติ เดินหน้าจัดทำ “สำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม    พ.ศ.2555” ส่งคุณมาดีลงพื้นที่สัมภาษณ์เพื่อรวบรวมข้อมูลการดำเนินธุรกิจทางการค้า ธุรกิจทางการบริการ และอุตสาหกรรมการผลิต จากสถานประกอบการทั่วประเทศ  พร้อมขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ข้อมูลถูกต้องครบถ้วน เพื่อเป็นข้อมูลให้ภาครัฐและผู้ประกอบการใช้ในการวางแผนพัฒนประเทศและธุรกิจให้มีศักยภาพ  ตอกย้ำให้ผู้ประกอบการมั่นใจ ข้อมูลไม่รั่วไหล ไม่เกี่ยวพันข้อกฎหมาย ไม่โยงใยเรื่องภาษี ลงพื้นที่ 1 มีนาคม – 30 มิถุนายนนี้

นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
กล่าวถึงเหตุผลในการจัดทำ      สำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม ว่า
ในปัจจุบันโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปจากภาคเกษตรกรรมเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต  การค้าและบริการเป็นหลัก  อุตสาหกรรมการผลิตซึ่งนับเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ    
ที่มีบทบาทอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในแต่ละปีมีมูลค่าผลผลิตประมาณ 2 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ในขณะที่ธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ มีมูลค่าผลผลิตประมาณ 1 ใน 5 ของ GDP ดังนั้นข้อมูลสถิติแลสารสนเทศโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการประกอบการดังกล่าว จึงมีความสำคัญสำหรับภาครัฐและเอกชนในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม  เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีการค้าโลก

ด้วยเหตุนี้  สำนักงานสถิติแห่งชาติในฐานะผู้รับผิดชอบในการจัดทำข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญให้แก่ประเทศ จึงได้จัดทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรมขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาจัดทำทุกๆ 10 ปี แต่เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ทันสมัยมากขึ้น    จึงได้ปรับเปลี่ยนให้มีการจัดทำทุกๆ 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่การทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ.2555 เป็นต้นไป

สำหรับการลงพื้นที่เพื่อสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ.2555  จะดำเนินการระหว่างวันที่ 1 มีนาคม ถึง 30 มิถุนายน 2554 โดยมีเจ้าหน้าที่ในนาม “คุณมาดี” ที่สวมเสื้อโปโลสีส้ม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการจัดทำ   สำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ.2555 ที่มีบุคลิกที่เป็นมิตร สุภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใสและเป็นกันเอง จำนวน 1,500 คน ลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ประกอบการทั่วประเทศ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานจะสอบถามจาก สถานประกอบการ...

สถานประกอบการที่ประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งทางด้านธุรกิจการค้า (ค้าปลีก ค้าส่ง) ธุรกิจทางการบริการ การผลิต  การก่อสร้าง  การขนส่งทางบกและสถานที่เก็บสินค้า  กิจกรรมด้านข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารและโรงพยาบาลเอกชน ส่วนการเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียด จะสอบถามจากสถานประกอบการที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับธุรกิจการค้าปลีก-ค้าส่ง การบริการและการผลิต ซึ่งการทำสำมะโนในครั้งนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติได้นำร่องโดยการนำระบบ E – Service และ E – Question มาใช้ในบางพื้นที่  เพื่อประเมินถึงผลดีผลเสีย  และหากการดำเนินการโดยวิธีนี้สามารถลดขั้นตอน เวลา ค่าใช้จ่าย ข้อผิดพลาด
และสามารถประมวลผลเป็นรายวันเมื่อจบภาคสนามก็จะขยายพื้นที่ต่อไป

“สำนักงานสถิติแห่งชาติ ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง โดยมั่นใจได้ว่า
ข้อมูลที่ให้มาจะไม่รั่วไหล ไม่เกี่ยวพันข้อกฎหมาย และไม่โยงใยเรื่องภาษี เพื่อที่รัฐจะได้กำหนดแผนนโยบายพัฒนาได้ตรงกับความต้องการ สำหรับผู้ประกอบการสามารถใช้ข้อมูลที่ได้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งการวางแผนตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนขยายกิจการ บริหารและควบคุมการดำเนินกิจการในด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงใช้ข้อมูลเป็นฐานเพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานตนกับกิจการอื่น  ในส่วนของนักวิชาการ นักวิจัย และสถาบันการศึกษา สามารถนำไปวิเคราะห์ต่อยอดสร้างนวัตกรรม เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาธุรกิจทางการค้า ธุรกิจทางการบริการ
และอุตสาหกรรมการผลิตที่อยู่ในความสนใจและเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  และขอให้ท่านผู้ประกอบการมั่นใจว่าข้อมูลของสถานประกอบการจะถูกเก็บเป็นความลับ  ไม่มีการนำไปเปิดเผยเป็นรายกิจการอย่างแน่นอน  สำนักงานสถิติแห่งชาติจะนำไปประมวลเป็นค่าทางสถิติและเสนอผลในภาพรวมเท่านั้น”  นายวิบูลย์ทัตกล่าว

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...