โครงการถวายพระพรออนไลน์เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทยได้ลงนามถวายพระพรออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.welovekingonline.com

ผลการคัดเลือกบุคคลเป็นลูกจ้างชั่วคราว

ผลการคัดเลือกบุคคลเป็นลูกจ้างชั่วคราวปฏิบัติงานโครงการสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2555

โครงการสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำสำมะโนธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ และสำมะโน อุตสาหกรรมทุก 10 ปี ตามข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ประเทศมีข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญทางด้านธุรกิจทางการค้า ธุรกิจทางการบริการ และอุตสาหกรรมการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง

29 กันยายน 2554

จังหวัดสุรินทร์ประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย 5 อำเภอ


จังหวัดสุรินทร์ประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัย 5 อำเภอ 16 ตำบล 89 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองสุรินทร์ สำโรงทาบ ท่าตูม ชุมพลบุรี และศรีณรงค์ ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน 5,305 ครัวเรือน นาข้าวเสียหาย 11,600 ไร่
          นายอำนวย จันทรัฐ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและฝายชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดสุรินทร์ทั้ง 18 แห่ง ปริมาณน้ำวัดได้ 134.846 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือประมาณ ร้อยละ 92.95 ของความจุทั้งหมด 145.079 ล้าน ลบ.ม. โดยห้วยลำพอก อำเภอศีขรภูมิ ปริมาณน้ำวัดได้ 10.246 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำท่วมขังในบริเวณที่ลุ่มติดห้วยลำพอก อ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว อำเภอรัตนบุรี มีน้ำท่วมในนาข้าวบริเวณที่ลุ่มต่ำ ห้วยทับทัน อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ มีน้ำท่วมขังบริเวณนาข้าวที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ตำบลสำโรงทาบและตำบลเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ ห้วยเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ มีน้ำท่วมขังบริเวณนาข้าวที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ตำบลเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ ระดับน้ำแม่น้ำมูลขณะนี้ระดับน้ำล้นตลิ่งและเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรในบริเวณที่ลุ่มต่ำขยายเป็นวงกว้าง หากยังมีฝนในพื้นที่ประกอบกับการรับน้ำมาจากต้นน้ำจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ซึ่งจะไหลมาสมทบกันที่แม่น้ำมูล คาดว่าน้ำอาจจะเอ่อท่วมเส้นทางการสัญจรและบ้านเรือนของประชาชนสร้างความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตและทรัพย์สิน ในพื้นที่อำเภอชุมพลบุรี ท่าตูม รัตนบุรี สำหรับลำน้ำชีน้อยมีน้ำท่วมขังนาข้าวในบริเวณที่ลุ่มต่ำ คาดว่า หากยังมีฝนตกในพื้นที่ประกอบกับการรับน้ำมาจากที่อื่นจะทำให้มีปริมาณน้ำมาก และเอ่อท่วมพื้นที่นาข้าวขยายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลคอโค ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์
          สำหรับอำเภอที่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย จำนวน 5 อำเภอ 16 ตำบล 89 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองสุรินทร์ สำโรงทาบ ท่าตูม ชุมพลบุรี และศรีณรงค์ ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน 5,305 ครัวเรือน นาข้าวเสียหาย 11,600 ไร่ ถนนเสียหาย 12 สาย ส่วนความเสียหายด้านการเกษตรนั้นจากการตรวจสอบพื้นที่ประสบอุทกภัย คาดว่า นาข้าวจะเสียหายอีกประมาณ 10,286 ไร่ และมันสำปะหลังเสียหายประมาณ 22,956 ไร่ ทั้งนี้ อำเภอท่าตูม มีพื้นที่ที่คาดว่าเสียหาย 4 ตำบล 14 หมู่บ้าน นาข้าวเสียหายประมาณ 4,581 ไร่ อำเภอสังขะพื้นที่ที่คาดว่าเสียหาย 6 ตำบล 34 หมู่บ้าน นาข้าวเสียหายประมาณ 5,253 ไร่ อำเภอสำโรงทาบ พื้นที่ที่คาดว่าเสียหาย 1 ตำบล 2 หมู่บ้าน นาข้าวเสียหายประมาณ 455 ไร่ อำเภอกาบเชิงพื้นที่ที่คาดว่าเสียหาย 6 ตำบล 78 หมู่บ้าน ไร่มันสำปะหลังเสียหายประมาณ 22,956 ไร่ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า จังหวัดสุรินทร์ได้รับรายงานสถานการณ์อุทกภัยเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2554 ว่าอำเภอชุมพลบุรีขณะนี้ระดับน้ำแม่น้ำมูลเอ่อล้นตลิ่งและน้ำไหลเอ่อมาจากลำพลับพลา เอ่อท่วมพื้นที่นาข้าวขยายเป็นวงกว้างในพื้นที่ตำบลสระขุด เมืองบัว ยะวึก กระเบื้อง ศรีณรงค์ ชุมพลบุรี นาหนองไผ่ และหนองเรือ คาดว่านาข้าว เสียหาย 8,700 ไร่ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 3,500 ครัวเรือน และหากว่ายังมีฝนตกในพื้นที่ซึ่งจะทำให้น้ำปริมาณสูงขึ้นมากน้ำอาจจะเอ่อท่วมเส้นทางสัญจรและบ้านเรือนของประชาชน ทั้งนี้ อำเภอชุมพลบุรีได้เตรียมความพร้อมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยจัดเตรียมกำลัง อปพร. จำนวน 500 นาย เรือท้องแบน 22 ลำ กระสอบทราย 4,000 กระสอบ ถุงยังชีพ 1,800 ถุง และอาสาปศุสัตว์ได้จัดเตรียมที่อพยพยสัตว์ไว้ที่ปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว 
          สำหรับอำเภอท่าตูมมีปริมาณน้ำมากจากภาวะล้นตลิ่งของแม่น้ำมูลและน้ำไหลเอ่อจากลำพลับพลา เอ่อท่วมขังในพื้นที่นาข้าวของตำบลทุ่งกุลา พรมเทพ โพนครก หนองบัว บะ หนองเมธี และท่าตูม และน้ำเริ่มไหลเอ่อท่วมเส้นทางสัญจรแล้ว ส่วนอำเภอ รัตนบุรี น้ำที่เอ่อล้นมาจากระดับน้ำในแม่น้ำมูลล้นตลิ่งทำให้มีปริมาณน้ำมาก เอ่อท่วมพื้นที่นาข้าวบริเวณที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ตำบลทับใหญ่ หนองบัวทอง กุดขาคีม และดอนแรด คาดว่า ปริมาณน้ำจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรขยายวงกว้างมากขึ้น

28 กันยายน 2554

สสช. ส่งเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลผู้ประสบเหตุอาชญากรรม

นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกเก็บข้อมูลผู้ประสบอาชญากรรม ระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม ๒๕๕๔ พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ 

ปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น มีรูปแบบที่หลากหลายและสลับซับซ้อนมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐยังขาดข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ การสำรวจในครั้งนี้เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ถูกกระทำในอาชญากรรมพื้นฐานต่างๆ ๔ ประเภท ได้แก่ การถูกกระทำต่อทรัพย์สินของตนเอง/ครอบครัว การถูกกระทำต่อชีวิต/ร่างกาย การถูกกระทำทางเพศ และการถูกกระทำเกี่ยวกับข้อมูล/เอกสารส่วนตัว เพื่อให้ภาครัฐและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมได้มีข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ปรับปรุงนโยบาย และติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ได้แก่ ข้อมูลทั่วไปของผู้ถูกกระทำเวลา สถานที่ ความเสียหาย และผลกระทบจากการถูกกระทำ การรายงานเหตุต่อเจ้าหน้าที่ การติดต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งลักษณะของผู้กระทำผิด เช่น การรู้จักกับผู้ถูกกระทำ และการเป็นสมาชิกแก๊งหรือกลุ่มอันธพาล เป็นต้น สำนักงานสถิติแห่งชาติขอความร่วมมือผู้ตอบสัมภาษณ์โปรดให้ข้อมูลที่เป็นจริงโดยข้อมูลที่ได้รับจะถูกเก็บเป็นความลับ และจะนำเสนอผลสำรวจในภาพรวมเท่านั้น นายวิบูลย์ทัต กล่าว

27 กันยายน 2554

ก.ไอซีที อัพเกรดโปรแกรมเฝ้าระวังภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ตไม่เหมาะสม


นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึง โครงการจัดการดูแลและเฝ้าระวังภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสม ว่า หลังจากที่กระทรวงไอซีที ได้ดำเนินโครงการจัดทำโปรแกรมเฮ้าส์คีปเปอร์ เพื่อป้องกันภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ และเกมคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสม พบว่าได้รับการตอบรับจากหน่วยงาน สถานศึกษา คณาจารย์ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และประชาชนที่สนใจเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้แสดงความจำนงขอโปรแกรมไปใช้งานมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมทั้งยังมีการเรียกร้องขอให้มีการดูแลและปรับปรุงโปรแกรมให้ทันสมัย  อยู่เสมอ เพื่อที่ผู้ปกครองและโรงเรียนต่างๆ จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการป้องกันสื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมและดูแลการใช้งานคอมพิวเตอร์ของเยาวชน
            “กระทรวงฯ เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวมีประโยชน์ต่อสังคมและประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรงเรียน สถานศึกษา และเยาวชนที่เป็นผู้ใช้คอมพิวเตอร์ จึงได้จัดทำโครงการปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพ จัดการดูแลระบบ และเผยแพร่แนวทางป้องกันภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสมสำหรับ ประชาชนทั่วประเทศขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความรู้ กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและสร้างภูมิคุ้มกันภัยที่แฝงมากับการใช้เครื่อง คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งขยายผลการดำเนินการให้ประชาชนโดยทั่วไปมีโอกาสได้เข้าถึงมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีเครื่องมือสำหรับใช้ป้องกันเยาวชนและตนเองจากเว็บไซต์ที่ ไม่เหมาะสมต่างๆ รวมถึงมีแหล่งเครื่องมือ และสามารถเข้าถึงช่องทางการดาวน์โหลดเครื่องมือป้องกันตนเองและบุตรหลานจาก ภัยแฝงทางอินเทอร์เน็ตได้  เพื่อให้เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพสามารถสร้าง สรรค์สังคมที่ดีได้ต่อไป” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
           การจัดทำโครงการดังกล่าวเป็นการปรับปรุงกระบวนการและขั้นตอนการดูแลเฝ้า ระวังให้เหมาะกับการใช้งาน และมีฐานข้อมูลที่ทันสมัย โดยกระทรวงฯ ได้ปรับปรุงโปรแกรมเฮ้าส์คีปเปอร์ เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานมากขึ้น พร้อมเพิ่มสมรรถนะของกระบวนการและขั้นตอนการดำเนินงานให้ทันสมัย และเหมาะสมกับการใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (32bit) ได้แก่ XP, Vista และ Windows 7 เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังสามารถทำงานร่วมกับบราวเซอร์ต่างๆ ในปัจจุบัน เช่น IE, Firefox และ Chrome ได้ รวมทั้งสามารถปรับปรุงข้อมูลรายการเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมเพิ่มเติมได้ด้วย
           น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กระทรวงฯ ได้จัดทำโปรแกรมดังกล่าวเพื่อแจกจ่ายสำหรับการใช้งานจำนวน 10,000 ชุด และจะมีการจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้สู่ประชาชน รวมทั้งกระตุ้นให้รู้ถึงภัยแฝงและการป้องกันตนจากการใช้งานคอมพิวเตอร์หรือ อินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสมสำหรับประชาชนและสถานศึกษาทั่วประเทศ  โดยหวังว่าโครงการฯ นี้ จะช่วยให้เกิดเครือข่ายป้องกันเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมของภาคประชาชนและภาครัฐ ในรูปแบบสมัครใจ ซึ่งจะเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด” 


คุณสมบัติโปรแกรม

  • ป้องกันการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ผู้ดูแลสามารถกำหนดเพิ่มได้เอง โดยสามารถกำหนด รูปแบบให้เหมาะสม สำหรับผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์แต่ละคนได้
  • กำหนดเวลาใช้งานของผู้ใช้แต่ละคน โดยสามารถระบุตารางเวลา แยกเป็นตารางเวลาใช้งานอินเทอร์เน็ต และตารางเวลาการใช้งานโปรแกรม
  • กำหนดให้สามารถบันทึกประวัติการใช้งานของผู้ใช้แต่ละคน เก็บไว้ได้ และยังสามารถกำหนดให้ส่งประวัติการใช้งานดังกล่าวไปยังอีเมลที่ระบุไว้ได้ อีกด้วย
  • ป้องกันการเข้าไปแก้ไขข้อมูลที่ไม่ควรถูกเปิดเผย เช่น ประวัติการใช้งานข้อมูลเว็บไซต์หรือโปรแกรมที่ถูกจำกัดการใช้งาน รวมไปถึงป้องกันการถอดถอนโปรแกรม
  • กำหนดการใช้งานของโปรแกรมต่างๆ โดยสามารถที่จะระบุว่าผู้ใช้แต่ละคนสามารถใช้งานโปรแกรมได้หรือไม่

ดาวน์โหลดโปรแกรม
Download โปรแกรมเฮาส์คีปเปอร์ 2011
Beta Version 1.0

18 กันยายน 2554

กีฬาสถิติสัมพันธ์ครั้งที่ 5


ดูภาพเพิ่มเติมได้ที่ http://goo.gl/wk1SA

16 กันยายน 2554

หนี้1.36แสนต่อครัวเรือน'นอกระบบ'หด

สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดผลสำรวจครัวเรือน ครึ่งปี 2554 พบ 57% เป็นหนี้ โดยเฉลี่ย 136,562 บาทต่อครัวเรือน แต่ไม่น่าห่วงเพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ รายได้ยังสูงกว่าค่าใช้จ่าย 

รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยถึงผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนช่วง 6 เดือนแรกปี 2554 ว่า ครัวเรือน 56.9% มีหนี้สิน โดยมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 136,562 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ 74.6% เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือน คือซื้อบ้าน/ที่ดิน 36.4% ใช้ในการอุปโภคบริโภค 36.1% และหนี้เพื่อใช้ในการศึกษา 2.1% ขณะที่หนี้ใช้ทำการเกษตรจะสูงกว่าใช้ทำธุรกิจถึง 4.5% ซึ่งส่วนใหญ่ครัวเรือนจะเป็นหนี้ในระบบ โดยมีครัวเรือนที่มีหนี้ในระบบอย่างเดียว 87.9% และครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ 6.1% สำหรับครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบอย่างเดียวมีเพียง 6.0% และพบว่าจำนวนเงินเฉลี่ยที่เป็นหนี้ในระบบสูงกว่านอกระบบถึง 32 เท่า 

ทั้งนี้ ในส่วนของรายได้ครัวเรือนพบว่า ครัวเรือนทั่วประ เทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 23,544 บาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงาน 71.9% จากการทำธุรกิจ 20.4% และจากการทำการเกษตร 12.8% ส่วนค่าใช้จ่ายมีเฉลี่ยเดือนละ 17,861 บาท โดยค่าใช้จ่าย 32.8% เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งในจำนวนนี้มีค่าเครื่องดื่มที่เป็นแอลกอฮอล์ 0.6% รองลงมาเป็นค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน 20.8% ใช้เกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะ 19.1% ใช้ส่วนบุคคล/เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 6.5% ในการสื่อสาร 3.1% เป็นต้น 

เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงของรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือนทั่วประเทศ ปี 2552-54 พบว่าเพิ่มขึ้น แต่มีอัตราการเพิ่มที่แตกต่างกัน โดยรายได้มีอัตราการเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าใช้จ่าย 6.1% และ 5.0% ต่อปี ทำให้สัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้ลดลงจาก 77.5% ในปี 2552 เป็น 75.9% ในปี 2554 สำหรับหนี้ของครัวเรือน พบว่าครัวเรือนที่เป็นหนี้มีจำนวนลดลง 3.3% แต่จำนวนเงินที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้น 0.7% ส่วนความเหลื่อมล้ำของรายได้มีแนวโน้มลดลง โดยกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดลดลง 0.1% ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดมีส่วนแบ่งของรายได้เพิ่มขึ้น 0.5%

7 กันยายน 2554

มหกรรมข้าวหอมมะลิไทย

กระทรวงพาณิชย์ ร่วม จ.สุรินทร์ กำหนดจัดงาน “มหกรรมข้าวหอมมะลิไทย” 9-10 ก.ย.นี้ พร้อมเชิญเอกอัครราชทูต 31 ประเทศ พร้อมผู้นำเข้า-ส่งออกข้าวหอมมะลิตลาดต่างประเทศ และผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศมาร่วมงานอย่างยิ่งใหญ่ นำร่องครั้งแรกที่ จ.สุรินทร์
      
        นายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน “ มหกรรมข้าวหอมมะลิไทย E-san Thai Hom Mali Rice Convention : Surin ” มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 ก.ย. 2554 นี้ ณ โรงแรมทองธารินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์
      
       นายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า จ.สุรินทร์ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จัดงานมหกรรมข้าวหอมมะลิไทย ไทย E-san Thai Hom Mali Rice Convention : Surin ขึ้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพการตลาดข้าวหอมมะลิไทย ภายใต้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าภายในประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน ปี 2554 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ด้านคุณภาพข้าวและ มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย และเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดข้าวหอมมะลิไทย โดยได้เชิญเอกอัครราชทูตประเทศ ที่นำเข้าข้าวหอมมะลิไทย จำนวน 31 ประเทศ , ผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิในต่างประเทศ , ผู้ส่งออกข้าวไปต่างประเทศ และผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศมาร่วมงานด้วย
      
       ในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การแสดงและจำหน่ายข้าวหอมะลิของทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และอีก 3 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา นอกจากนั้นยังมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ , การแสดงนิทรรศการ , การแสดง แสง สี เสียง , การจัดเยี่ยมชมการเพาะปลูกในแปลงนา และการแปรรูปข้าวหอมมะลิที่โรงสีข้าว รวมทั้งการจัดเสวนาแนวทางการพัฒนาการผลิตและการตลาดข้าวหอมมะลิไทย ในหัวข้อ “ข้าวหอมมะลิไทยก้าวอย่างไรให้ยั่งยืน” เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการจัดงานมหกรรมข้าวหอมมะลิไทยนำร่องในระดับประเทศขึ้นครั้ง แรกที่ จ.สุรินทร์

3 กันยายน 2554

งานผ้าไหมนครชัยบุรินทร์สืบสานตำนานไหมอีสานใต้

จังหวัดสุรินทร์ เชิญเที่ยวงานผ้าไหมนครชัยบุรินทร์สืบสานตำนานไหมอีสานใต้ 7 – 11 กันยายน นี้ ณ บริเวณลานจอดรถ สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดสุรินทร์

นายกสิณ นวลโคกสูง พัฒนาการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์ กำหนดการจัดแสดงและจำหน่ายผ้าไหมระดับภูมิภาคอาเซียน “ASEAN Silk Heritage” ภายใต้ชื่องาน “ผ้าไหมนครชัยบุรินทร์ สืบสานตำนานไหมอีสานใต้” ระหว่างวันที่ 7 – 11 กันยายน 2554 ณ บริเวณลานจอดรถ สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดสุรินทร์ (สวนใหม่ อบจ.) เพื่อยกระดับการพัฒนาศักยภาพทางการตลาดและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับกลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการไหมในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ให้เป็นที่รู้จัก รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนากระบวนการผลิตผ้าไหมให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าไหมที่สำคัญในประเทศต่อไป พัฒนาการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ในงานดังกล่าว กลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการไหมในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ คือ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 มี 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ได้นำผลิตภัณฑ์จากไหมร่วมจัดแสดงและจำหน่วยกว่า 100 บูธ เป็นแบบบูธติดแอร์ ภายในบริเวณจัดงาน โดยมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ การจัดนิทรรศการแสดงถึงวัฒนธรรมไหมสุรินทร์ ผ้าไหมในราชสำนัก ผ้าไหมชาติพันธุ์สุรินทร์(เขมร,ลาว,กูย) ผ้าไหมกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ วิวัฒนาการไหม และการส่งเสริมภูมิปัญญาผ้าไหมไทย การจัดแสดงวิวัฒนาการไหม และการส่งเสริมภูมิปัญญาผ้าไหมไทยในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ การจัดบูธแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไหมของกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ และบูธแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP ประเภทอื่นที่มีชื่อเสียง และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมอีสานใต้

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...