6 กรกฎาคม 2554

ร้องรัฐเร่งคุมราคาสินค้า

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้สรุปผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความก้าวหน้าของประเทศ พ.ศ. 2554 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการจัดทำความก้าวหน้าของประเทศ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดความก้าวหน้าของประเทศ และเพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประกอบการดำเนินการต่อไป โดยได้สำรวจความคิดเห็นโดยการสุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 106,620 คน 
    
ทั้งนี้จากการสอบถามแนวทางที่ประชาชนต้องการให้ภาครัฐดำเนินการเรื่องความเจริญก้าวหน้าของประเทศ พบว่าประชาชนต้องการให้เข้ามาควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมากที่สุดถึง 18.3% รองลงมาคือสร้างความปรองดองสามัคคีในสังคม 16.2% อันดับสามคือ การพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าและมั่นคง 14.3 % อันดับสี่คือ พัฒนาด้านการศึกษาให้มีคุณภาพ 14% อันดับห้าคือ การสร้างความยุติธรรมและโปร่งใสในสังคม 13.4%
    
ส่วนที่ประชาชนต้องการน้อยที่สุดคือการส่งเสริมการท่องเที่ยว 0.3% รองลงมาคือการหางานรองรับนักศึกษาที่จบใหม่ 1.1% การพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าเท่าเทียมนานาประเทศ 1.7% อันดับสี่คือ การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ 1.8% และจัดการปัญหาด้านขยะชุมชนและหมู่บ้าน 1.8% 
    
สำหรับผลการสำรวจความเห็นด้านความเจริญก้าวหน้าของประเทศ 5 อันดับแรก พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึง 61.6% เห็นว่าเป็นด้านการศึกษาและการเรียนรู้ รองลงมาคือการทำงานและการประกอบอาชีพ 59.8% อีก 57% เห็นว่าเป็นฐานะทางเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพมีเพียง 41.7% และที่น้อยที่สุดพบว่าเป็นเรื่องของที่อยู่อาศัยและระบบสาธารณูปโภค 33.1%
    
นอกจากนี้ความเจริญก้าวหน้าของประเทศด้านฐานะเศรษฐกิจใน 5 อันดับแรก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 76% เห็นว่าประชาชนมีงานทำ ขณะที่ 75.2% เห็นว่าประชาชนมีรายได้มากกว่ารายจ่าย อีก 64.8% เห็นว่ามีภาระหนี้สินครัวเรือนลดลง 56.7% เห็นว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ขณะที่มีเพียง 41.5% เท่านั้นที่เห็นว่าค่าครองชีพของตนอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเฉพาะประชาชนในภาคเหนือที่เห็นด้วยน้อยที่สุดเพียง 39.8% รองลงมาคือ กท. และใต้ ที่เห็นเท่ากันคือ 40.4% ภาคอีสาน 40.6%
    
รายงานข่าวกล่าวด้วยว่า ส่วนความเจริญก้าวหน้าของประเทศด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ใน 5 อันดับแรกนั้น ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าช่องว่างรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยลดลงจริง 69.3% รองลงมาคือ ความยากจนลดลง 65.8% ส่วนที่เห็นว่าประชาชนทุกกลุ่มได้รับโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทรัพยากรและการบริการของภาครัฐที่เหมาะสม มี 55% อีก 51.9% เห็นว่าการปฏิบัติของภาครัฐและสังคมที่มีต่อประชาชนเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน ขณะที่ 48.1% ที่เห็นว่าชุมชนและท้องถิ่นได้รับการจัดให้มีระบบสวัสดิการที่เพียงพอครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตายอย่างเท่าเทียมและเหมาะสม
    
อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องความเจริญก้าวหน้าของประเทศด้านความสามัคคีและความสมานฉันท์พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 78.8% ที่เห็นว่าการไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคมตามด้วยความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมลดลง


ที่มา: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=310&contentID=149338

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...