17 ตุลาคม 2554

สุขภาพจิตดี..มีได้ด้วยพอเพียง

การมีสุขภาพดีเป็นพื้นฐานสำคัญและจำเป็นมากสำหรับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งการมีสุขภาพดีไม่ใช่เฉพาะสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเท่านั้น แต่การมีสุขภาพจิตที่ดีก็มีความสำคัญมาก เช่นเดียวกัน การมีสุขภาพจิตที่ดีจะทำให้เราสามารถควบคุมอารมณ์ คิดแก้ปัญหาและตัดสินใจได้อย่างดี อีกทั้งสุขภาพจิตยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายได้ เพราะเมื่อสุขภาพจิตเสื่อม สุขภาพกายก็จะพลอยทรุดโทรมไปด้วยดังคำกล่าวที่ว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” จากผลลัพธ์ต่างๆ ที่เกิดจากสุขภาพจิตทำให้หลายฝ่ายเริ่มให้ความสนใจเรื่องของจิตใจมากขึ้น ดังนั้นสหพันธ์สุขภาพจิตโลกจึงได้กำหนดให้วันที่ ๑๐ ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันสุขภาพจิตโลก” เพื่อให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อปัญหาด้านสุขภาพจิต

ในหลายปีที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะประสบกับปัญหาต่างๆ เช่นปัญหาภัยธรรมชาติ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และปัญหาเรื่องปากท้อง เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตทั้งสิ้น แต่จากการสำรวจสุขภาพจิตคนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยใช้ข้อถามสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น 15 ข้อของกรมสุขภาพจิตที่พัฒนาจากข้อถามฉบับสมบูรณ์ที่กำหนดว่าบุคคลทั่วไปควรมีคะแนนสุขภาพจิตระหว่าง 27.01-34 คะแนน ผลสำรวจพบว่า ในปี 2552 คนไทยมีสุขภาพจิตโดยเฉลี่ยดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับ ปี 2551 ที่ได้ 31.80 คะแนน และในปี 2552 ได้ 32.73 คะแนน จากคะแนนเต็ม 45 คะแนน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้สำหรับคนทั่วไป และเป็นที่น่ายินดีที่มีผู้มีสุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 (จากร้อยละ 27.7 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 37.7 ในปี 2552)
นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่าการศึกษาและรายได้มีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตด้วย โดยพบว่าผู้ที่มีการศึกษาสูงและรายได้มากๆ จะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่มีการศึกษาและรายได้ต่ำกว่า แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะพบว่าถึงแม้ว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำจะมีคะแนนสุขภาพจิตน้อยที่สุดแต่เมื่อเทียบกับปี 2551 แล้วคะแนนสุขภาพจิตดีขึ้น (เพิ่มขึ้นจาก 30.29 คะแนนในปี 2551 เป็น 32.63 คะแนน ในปี 2552) นั่นแสดงว่านโยบาย และความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่เน้นประชาชนรากหญ้ามีผลให้สุขภาพจิตคนกลุ่มนี้ดีขึ้นได้ รายได้ก็เช่นเดียวกันแต่อาจจะไม่เสมอไปที่คนที่มีรายได้สูงจะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำ เพราะอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องด้วย เช่น ความมั่นคงในชีวิต และความสบายใจในการใช้จ่าย เป็นต้น

ส่วนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของประชาชนรากหญ้าคงหนีไม่พ้นเรื่องปัญหาหนี้สินซึ่งจากผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พบว่า ในปี 2552 คนไทยมีหนี้สิ้นเฉลี่ย 134,699 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว (ปี 2543 ครัวเรือนมีหนี้สิ้นเฉลี่ย 68,405 บาท) และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของรัฐบาล และตัวประชาชนเองที่ต้องหาวิธีแก้ปัญหานี้ให้ได้

การที่จะมีสุขภาพจิตดีนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่พร้อมทุกอย่างเสมอไป แม้ว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมืองในช่วงต้นปีที่ผ่านมาจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของประชาชน แต่ทุกคนสามารถที่จะมีสุขภาพจิตที่ดีได้ ถ้ารู้จักพอใจในสิ่งที่ตนมี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และดำเนินชีวิตอย่างมีสติโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพียงเท่านี้ทุกคนก็จะมีสุขภาพจิตดี และสามารถดำเนินชีวิตภายใต้สถานการณ์ที่กดดันได้อย่างมีความสุข

ที่มา: สำนักสถิติพยากรณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...