18 ตุลาคม 2554

สถานการณ์เด็กไทย…….ภาพสะท้อนสังคม??

จากการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งในทางที่เป็นคุณและเป็นโทษ จำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อ แม่ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดต้องทำหน้าที่อบรม สั่งสอน และให้ความเอาใส่ใจดูแลเด็กอย่างมาก ตลอดจนต้องทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อสามารถนำพาเด็กๆ ให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องต่อไป

ครอบครัว ปัจจัยหล่อหลอมเด็กไทย
การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวมีพ่อ แม่ และลูกอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา เป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กได้รับความรัก ความอบอุ่นจากพ่อและแม่อย่างสมบูรณ์ นับว่าครอบครัวมีบทบาทสำคัญต่อเด็กอย่างมากในการหล่อหลอมและสร้างเด็กให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพทั้งความรู้ คุณธรรม และจริยธรรม สามารถดำรงชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นในสังคม และสร้างให้สังคมน่าอยู่ต่อไปได้ แม้โครงสร้างของครัวเรือน ส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวเดี่ยวที่มีพ่อ แม่ และลูก แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ จากร้อยละ 65.6 ในปี 2530 เป็นร้อยละ 52.3 ในปี 2552 ขณะที่ครัวเรือนขยายที่มีพ่อ แม่ ลูก และญาติพี่น้องอื่นๆอยู่ด้วยนั้น จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 27.6 ในปี 2530 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35.8 ในปี 2552 อย่างไรก็ดี พบว่าในรอบ สองทศวรรษที่ผ่านมา การอยู่คนเดียวนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการย้ายออกไปทำงานในเมืองอื่นๆ มากขึ้น จึงทำให้ต้องแยกครัวเรือนออกมา ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน พบว่า ในปี 2551 มีเด็กจำนวน 1 ใน 5 ของเด็กทั้งหมดที่อายุไม่เกิน 17 ปี (หรือร้อยละ 20.1) ไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่ โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.3 ในปี 2548 เป็นเพราะพ่อและแม่ แยกทางกัน หรือต้องไปทำงานที่อื่นจึงต้องทิ้งบุตรหลานให้บุคคลอื่นเช่น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติพี่น้องเลี้ยงดูแทน

จากข้อมูลดังกล่าว จึงทำให้เกิดคำถามว่า “ทุกวันนี้ ผู้ปกครองได้ให้ความเอาใจใส่เด็กๆ มากพอหรือยัง?" ซึ่งผลสำรวจการใช้เวลาของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าการใช้เวลาใน 1 วันของคนไทยนั้น ใช้เวลาในการดูแลเด็ก ซึ่งรวมถึงการดูแลด้านร่างกาย การอบรมให้คำแนะนำ การใช้เวลารับส่งเด็กไปยังสถานที่ต่างๆ และการดูแลด้านจิตใจมีเพียง 2.1 ชั่วโมงต่อวันในปี 2544 เท่านั้น แม้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.3 ชั่วโมงต่อวันในปี 2547 แต่ก็ถือว่าเป็นการใช้เวลาสำหรับเด็กที่น้อยมาก แม้โดยรวมครอบครัวไทยยังดำรงความสัมพันธ์อย่างดีทั้งระบบครอบครัวและระบบเครือญาติ แต่ปัจจัยภายนอกก็มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดพฤติกรรมของเด็กด้วย จากการที่สังคมได้เปลี่ยนเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร ผู้คนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็วทั่วทุกมุมโลกผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้เด็กบริโภคข้อมูลบนสื่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างเสรีแบบ Anytime Anywhere และ Anything แล้วเช่นนี้เด็กไทยจะเป็นอย่างไรหรือต้องเผชิญอะไรบ้างในโลกไร้พรมแดน

เกมออนไลน์...สร้างสรรค์จินตนาการหรือมอมเมา???
“เด็กติดเกม” หลายคนคงจะคุ้นหู เพราะมีการพูดกันในวงกว้างเกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่ไม่เหมาะสม กับเด็ก การติดเกมจนทำให้เสียสุขภาพ และการเรียน แต่ใครจะทราบบ้างว่า หากมองอีกด้านหนึ่งเกมออนไลน์นั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของเด็กๆ เพราะนอกจากการเล่นเกมที่ได้รับความเพลิดเพลินแล้ว เด็กๆ ยังได้ทักษะในการใช้อินเทอร์เน็ต การติดตามข่าวสาร และการค้นหาข้อมูลต่างๆ ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ด้วยตัวของเด็กๆ เอง โดยจากผลสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า เด็กไทยใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในการเรียน การศึกษา และค้นหาข้อมูล/ติดตามข่าวสารบนอินเทอร์เน็ต ยกเว้นเด็กอายุ 6-10 ปี เท่านั้นที่ส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเล่นเกมส์ ส่วนแหล่งที่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ใช้ที่โรงเรียนและบ้าน โดยใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง

วัฒนธรรมไทย...เกราะป้องกันภัย??? คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม ตลอดจนการรับวัฒนธรรมแบบไม่ไตร่ตรองก่อน จะเป็นตัวอย่างให้เด็กลอกเลียนแบบ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปกครองและสังคมต้องเตรียมความพร้อมและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กในการรับและปรับไปใช้ในทางที่ถูกต้อง แม้ผลจากการสำรวจการเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมในปี 2548 จะพบว่าวัยรุ่นไทยยังคงมีพฤติกรรมและจิตสำนึกที่ดี ไม่ทำตัวเป็นภาระหรือปัญหาของสังคม โดยวัยรุ่นอายุ 13 – 24 ปี ส่วนใหญ่ใช้เวลาในการอ่านหนังสือ (ร้อยละ 85.5) และเล่นกีฬา ร้อยละ 78.4 แต่ก็มีวัยรุ่นถึงเกือบครึ่งที่เล่นเกมคอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 41.3) นอกจากนี้ยังพบข้อน่าเป็นห่วง ก็คือ การมีพฤติกรรมนอนดึกตื่นสาย การเที่ยวกลางคืนและเที่ยวเตร่เป็นประจำ แม้จะมีน้อยกว่าร้อยละ 6 แต่ก็นับว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะกับวัย แต่อย่างไรก็ตามในการสำรวจสภาวะทางสังคม วัฒนธรรม และสุขภาพจิต ปี 2551 พบเรื่องที่น่ายินดีว่า เด็กไทยที่นับถือศาสนาพุทธอายุ 13-14 ปี ประมาณร้อยละ 80 ระบุว่าเคยตักบาตร และสวดมนต์ ร้อยละ 67.4 ระบุว่าเคยถวายสังฆทาน และประมาณร้อยละ 30 ระบุว่าเคยรักษาศีล 5 (ครบทุกข้อ) และทำสมาธิ ซึ่งจากข้อมูลในภาพรวมนี้อาจแสดงให้เห็นได้ว่าอย่างน้อยก็ยังมีเด็กบางส่วนทื่ถือได้ว่าเป็น “เด็กไทย….ยังไม่ไกลวัด” จากที่กล่าวมาข้างต้น แม้จะไม่ใช่ภาพสะท้อนทั้งหมดของเด็กและเยาวชนไทย แต่ก็เป็นปรากฎการณ์ที่ต้องการสะท้อนให้สังคมได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนไทยเพิ่มมากขึ้น เพราะเด็กคือพลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต เปรียบเสมือนผ้าขาวที่พร้อมจะรับการแต่งแต้มสีจากผู้ใหญ่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ครอบครัว โรงเรียน ครู และสังคมจะต้องเป็นและสร้างแบบอย่างที่ดี เพื่อที่พวกเค้าจะได้ “รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ” เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป

ที่มา: กลุ่มงานวิเคราะห์และพยากรณ์สถิติเชิงสังคม สำนักสถิติพยากรณ์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...