27 มกราคม 2553

ท่านสละเวลาเล็กน้อยก็เท่ากับมีส่วนร่วม “ฉลอง 100 ปี สำมะโนประชากร” แล้ว

การทำสำมะโนประชากร เป็นการแจงนับบุคคลทุกคนในทุกครัวเรือนที่อยู่ในประเทศไทย ทุกคนและทุกครัวเรือนสามารถมีส่วนร่วมในงานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศครั้งนี้ได้โดยการให้ข้อมูลตามความเป็นจริงเกี่ยวกับบุคคลในครัวเรือน

การให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลในครัวเรือน อาจทำได้ 2 วิธี

(1) ให้ข้อมูลแก่ “เจ้าหน้าที่สำมะโน” ที่เข้าไปยังแต่ละครัวเรือนเพื่อสอบถามข้อมูลของสมาชิกทุกคนในครัวเรือน พนักงานแจงนับจะกรอกข้อมูลลงในแบบแจงนับ พนักงานแจงนับเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้การรับรองโดยกฎหมาย ในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 (มาตรา 5)

นอกจากเจ้าหน้าที่สำมะโนจะไปสอบถามข้อมูลจากท่านถึงที่บ้านแล้ว ท่านยังอาจให้ข้อมูลของสมาชิกในครัวเรือนโดยทางโทรศัพท์ได้อีกด้วย

(2) แต่ละครัวเรือนกรอกข้อมูล “แบบสำมะโน” เอง เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติจะนำแบบแจงนับไปให้ครัวเรือนที่ไม่สะดวกในการให้ข้อมูลแก่พนักงานแจงนับ ในกรณีนี้แต่ละครัวเรือน จะกรอกข้อมูลลงในแบบแจงนับเอง จะมีเจ้าหน้าที่ไปเก็บรวบรวมแบบแจงนับจากแต่ละครัวเรือนในภายหลัง

นอกจากจะกรอกข้อมูลลงในแบบสำมะโนแล้วส่งให้เจ้าหน้าที่สำมะโนแล้ว ท่านอาจกรอกข้อมูลลงในแบบแล้วส่งทางอินเตอร์เน็ตได้อีกด้วย

ท่านไม่ต้องใช้เวลามากนักในการร่วม “ฉลอง 100 ปีสำมะโนประชากร” ครั้งนี้ ไม่ว่าท่านจะให้ข้อมูลแก่พนักงานแจงนับให้ด้วยตัวเองหรือทางโทรศัพท์ หรือกรอกข้อมูลในแบบแจงนับด้วยตนเอง ท่านก็จะเสียเวลาเพียงประมาณ 10 นาทีเท่านั้น

ข้อมูลที่ท่านจะให้แก่พนักงานแจงนับ หรือที่ท่านจะกรอกด้วยตนเองเป็นข้อมูลทั่ว ๆ ไปที่ง่ายในการตอบ ไม่มีคำถามที่ยุ่งยากที่ท่านต้องคิดหาคำตอบแต่ประการใด ข้อมูลที่สำมะโนประชากรต้องการ คือ จำนวนคนที่อยู่จริง ๆ ในครัวเรือนของท่าน โดยไม่ดูว่าคน ๆ นั้นจะมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นคนไทยหรือไม่ก็ตาม

ข้อมูลของสมาชิกครัวเรือนแต่ละคนที่สำมะโนประชากรต้องการทราบ คือ
- เพศ
- อายุเต็มปีบริบูรณ์
- ศาสนาที่นับถือ
- สัญชาติ
- การมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
- การศึกษา
- การอ่านออกเขียนได้
- อาชีพหลัก
- สถานภาพการทำงาน
- สถานภาพสมรส
- สำหรับหญิงที่สมรสแล้ว จะถามเรื่องการมีลูก
- ความพิการ
- สถานที่เกิด
- การย้ายถิ่น


นอกจากข้อมูลของแต่ละบุคคลในครัวเรือนแล้ว การทำสำมะโนประชากรและเคหะครั้งนี้ยังมีข้อถามเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของแต่ละครัวเรือนด้วย ข้อถามเคหะประกอบด้วย
- ประเภทที่อยู่อาศัย
- ลักษณะของที่อยู่อาศัย
- ลักษณะการครอบครองที่อยู่อาศัย
- ลักษณะการครอบครองที่ดิน
- จำนวนห้อง
- ประเภทของแสงสว่างที่ใช้
- เชื้อเพลิงที่ครัวเรือนใช้
- ประเภทส้วม
- น้ำดื่มน้ำใช้
- ความเป็นเจ้าของเครื่องใช้บางอย่างในครัวเรือน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...