26 มกราคม 2553

ทำไมต้องทำสำมะโนประชากรในเมื่อมีทะเบียนราษฎรอยู่แล้ว

แหล่งข้อมูลประชากรที่สำคัญแหล่งหนึ่งของประเทศไทย ได้แก่การจดทะเบียนราษฎร ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในราวเดือนมีนาคมของแต่ละปี กระทรวงมหาดไทยจะประกาศจำนวนประชากรที่อยู่ในทะเบียนราษฎร เมื่อวันสุดท้ายของปีที่ผ่านมา เราจะรู้ว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม ของปีก่อนหน้านั้นมีประชากรไทยอยู่กี่คน ผู้ชายกี่คน ผู้หญิงกี่คน ในปีก่อนนั้นมีคนเกิดและคนตายกี่คน ทั้งยังให้ข้อมูลจำนวนประชากร คนเกิด คนตาย และจำนวนบ้านที่จดทะเบียนในแต่ละจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลประชากรในทะเบียนราษฎรเป็นจำนวนคนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียน แม้จะมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ย้ายบ้านต้องไปจดทะเบียนย้ายที่อยู่กับสำนักทะเบียน แต่ในทางความเป็นจริง ประชาชนที่ย้ายที่อยู่ส่วนใหญ่ก็จะไม่ไปจดทะเบียน ดังนั้น จำนวนคนที่อยู่ในทะเบียนของพื้นที่หนึ่ง จึงไม่ตรงกับจำนวนคนอยู่จริง ๆ ในพื้นที่นั้น

จำนวนคนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนในพื้นที่หนึ่งจะไม่ตรงกับจำนวนคนที่มีอยู่จริงๆ ในพื้นที่นั้น อย่างเช่น ในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ.2551 มีประชากรตามทะเบียนราษฎร 5 ล้าน 8 แสนคน แต่ในความเป็นจริง มีผู้คนจากจังหวัดต่างๆ เข้ามาอาศัยอยู่ในมหานครแห่งนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งเข้ามาเพื่อศึกษาเล่าเรียน ทำมาหากิน หรือ ด้วยเหตุผลอื่นๆ จำนวนประชากรที่มีอยู่จริงในกรุงเทพมหานคร จึงน่าจะมากกว่าจำนวนตามทะเบียนราษฎรอย่างมาก

ในพื้นที่ต่างๆ เราจะมีปัญหาเรื่องความแตกต่างระหว่างจำนวนประชากรที่มีอยู่จริงกับจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร การกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาและให้บริการของพื้นที่และชุมชนต่างๆ ที่จะมีประสิทธิภาพได้จะต้องใช้ข้อมูลประชากรที่มีอยู่จริง ซึ่งจะได้จากการทำสำมะโนประชากร

สำมะโนประชากร คือ การนับคนที่อยู่จริง ๆ ในแต่ละพื้นที่

สำมะโนประชากรเปรียบเสมือนการถ่ายภาพนิ่งของผู้คนที่อาศัยอยู่จริงในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศ เป็นภาพนิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ณ เวลาที่ทำสำมะโนประชากรนั้นมีผู้คนวัยใดเพศใดบ้าง มีผู้สูงอายุ คนพิการเท่าไร มีการศึกษาระดับไหน มีผู้รู้หนังสือมากน้อยเพียงไร คนในวัยทำงานมีงานทำหรือไม่ อย่างไร มีการย้ายถิ่นอยู่มากน้อยแค่ไหน ข้อมูลจากสำมะโนประชากรจึงแตกต่างจากทะเบียนราษฎร ซึ่งเปรียบเสมือนการถ่ายภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นผู้คนเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในแต่ละปีมีทั้งคนเกิดและคนตาย แต่ข้อมูลจากทะเบียนราษฎรไม่สามารถบอกลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจ และสังคม ในรายละเอียดได้เหมือนกับสำมะโนประชากร

ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องทำสำมะโนประชากรเพื่อให้เห็นภาพว่าผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ณ เวลาหนึ่ง เช่น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2553 นั้น เป็นใครกันบ้าง ทั้งเพศ วัย เชื้อชาติ สถานภาพสมรส การศึกษา การอ่านออกเขียนได้ อาชีพ การทำงาน การย้ายถิ่นที่อยู่ รวมทั้งสภาพเคหะที่อยู่อาศัย

เราจะถ่ายภาพนิ่งหรือทำสำมะโนประชากรนี้ไว้ทุก ๆ 10 ปี สำมะโนประชากรครั้งที่ 11 ในปี พ.ศ.2553 นี้ จะนำไปเปรียบเทียบกับภาพประชากรในอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมา และพร้อมที่จะนำไปเปรียบเทียบกับสำมะโนประชากรครั้งต่อไปในอีก 10 ปีข้างหน้าเพื่อดูการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...