24 มกราคม 2553

เกือบทุกประเทศในโลกต่างทำสำมะโนประชากร

เราควรต้องน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ท่านได้ทรงริเริ่มให้มีการทำสำมะโนครัว เพื่อนับจำนวนพลเมืองทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร การทำสำมะโนครัวที่เริ่มเป็นครั้งแรกในสมัยรัชการที่ 5 นั้น เป็นการทำสำมะโนประชากรแบบสมัยใหม่ คือการนับจำนวนคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของมณฑลทั้งหมดทั่วราชอาณาจักร พร้อมแจกแจงผู้คนที่นับได้ออกตามลักษณะต่าง ๆ เช่น เพศ กลุ่มวัย และเชื้อชาติ

ความคิดในการทำสำมะโนประชากรสมัยใหม่ ซึ่งได้เริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ปรากฏหลักฐานเป็นการทำสำมะโนครัวในปี พ.ศ.2448 หรือ ค.ศ.1905 แม้สำมะโนครัวครั้งนั้นจะทำได้ไม่สำเร็จครบถ้วนทุกมณฑล แต่ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความพยายามในการแจงนับประชากรในราชอาณาจักรได้เกิดขึ้นแล้ว

ปัจจุบัน ทุกประเทศต่างๆ ทั่วโลก 228 ประเทศมีการทำสำมะโนประชากรกันทุก 10 ปี หรือทุก ๆ 5 ปี ประเทศเพื่อนบ้านของเราหลายประเทศเพิ่งเริ่มทำสำมะโนประชากรเมื่อไม่นานมานี้เอง ประเทศลาวทำสำมะโนประชากรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2528 แล้วทำครั้งต่อ ๆ มาทุก 10 ปี ครั้ง หลังสุด ลาวทำสำมะโนประชากรในปี พ.ศ.2548 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 กัมพูชาเพิ่งทำสำมะโนประชากรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2545 สำมะโนประชากรของเวียดนามก็เพิ่งทำครั้งแรกในปี พ.ศ.2546 นี้เอง ประเทศที่เคยอยู่ได้การปกครองของอังกฤษจะมีประวัติการทำสำมะโนประชากรมาช้านาน เช่น มาเลย์เซีย ทำตั้งแต่ปี พ.ศ.2434 อินเดีย ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2444 และทำต่อเนื่องมาทุก 10 ปี

ประเทศญี่ปุ่นทำสำมะโนประชากรครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2463 หลังจากการทำสำมะโนประชากรทั่วราชอาณาจักรครั้งแรกขอบประเทศไทย 10 ปี ญี่ปุ่นทำสำมะโนประชากรทุก ๆ 5 ปี เพื่อได้ข้อมูลมาใช้ในการวางนโยบายและแผนสำหรับเขตบริหารทุกระดับ สำมะโนประชากรของญี่ปุ่นครั้งสุดท้ายทำเมื่อปี พ.ศ.2548 นับเป็นครั้งที่ 18

จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกทำสำมะโนประชากรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2492 และได้ทำครั้งต่อ ๆ มาในปี พ.ศ.2496 2507 2518 2533 สำมะโนประชากรของจีนครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นครั้งหลัดสุดเมื่อปี พ.ศ.2543 นับจำนวนประชากรได้ 1,295 ล้านคน

ประเทศในยุโรปที่อ้างว่าได้ทำสำมะโนประชากรแบบสมัยใหม่มาก่อนประเทศใดได้แก่สวีเดน สวีเดนทำสำมะโนประชากรมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2292 คือเมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้ว


ประเทศที่มีประวัติการทำสำมะโนประชากรแบบสมัยใหม่ยาวนานมากอีกประเทศหนึ่ง คือสหรัฐอเมริกา สำมะโนประชากรครั้งแรกของประเทศนี้ทำในปี พ.ศ.2333 สำนักงานสำมะโนของสหรัฐ (US Census Bureau) ชอบนำเอาจำนวนประชากรที่แจงนับได้ในการทำสำมะโนประชากรครั้งแรกเพียง 3.9 ล้านคนมาเปรียบเทียบกับจำนวน 281 ล้านคนที่แจงนับได้ในการทำสำมะโนประชากรครั้งหลังสุดเมื่อปี พ.ศ.2543 รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกากำหนดให้มีการทำสำมะโนประชากรทุก 10 ปี ข้อมูลที่ได้จากสำมะโนประชากรนำไปใช้ในการเลือกตั้งผู้แทน ราษฎรและผู้บริหารทุกระดับ รวมทั้งใช้ในการจัดสรรงบประมาณของประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย

สหราชอาณาจักรเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีประวัติการทำสำมะโนประชากรมายาวนาน ประเทศนี้ทำสำมะโนประชากรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2344 และทำต่อมาเป็นประจำทุก 10 ปีในปี คริสตศักราชที่ลงท้ายด้วย “1” สำมะโนประชากรครั้งหลังสุดของสหราชอาณาจักรทำในปี ค.ศ.2001 และครั้งต่อไปซึ่งจะเป็นครั้งที่ 21 จะทำในปี ค.ศ.2011 หรือ พ.ศ.2554

ปัจจุบัน กองทุนประชากรของสหประชาชาติ (UNFPA) ได้ส่งเสริมให้ประเทศ ต่าง ๆ ทำสำมะโนประชากร โดยเน้นที่ความสมบูรณ์ของข้อมูลสำมะโนประชากรทั้งในด้านการครอบคลุมและความถูกต้องเชื่อถือได้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...