31 มกราคม 2553

การพัฒนาระบบสถิติในประเทศ

ศาตราจารย์ ดร. บัณฑิต กันตะบุตร F.S.A.T
ศาตราจารย์กิตติคุณในวิชาสถิติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Fello of The American Statistical Association
จากหนังสือ 30 ปี สู่วิทยาศาสตร์ที่ยั่งยืนของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สถิติคืออะไร
สถิติ คือ วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) ซึ่งจะช่วยให้การตัดสินใจต่อปัญหาต่างๆ เป็นไปอย่างมีหลักการและถูกต้องที่สุด ความเข้าใจเช่นนี้ไกลจากความเข้าใจของคนทั่วไปในอดีตอย่างมากมาย ในอดีตนั้น ประชาชนมักจะเข้าใจว่า สถิตินั้นเป็นเพียงข้อมูลตัวเลข ผู้ที่จะมาทำงานสถิติมีพื้นความรู้เพียง บวก ลบ คูณ หารก็พอ ซึ่งแท้จริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ ผลงานของนักสถิติต่างๆ เริ่มตั้งแต่ Karl Pearson ใน ค.ศ. 1900ตามมาด้วยผลงานของ W.S. Gosset (Student) ; R.A. Fisher, Jersey Neyman, E.S. Pearson จนกระทั่งถึงผลงานของ B.Efron เมื่อ ค.ศ. 1979 ล้วนแล้วแต่ทำให้เห็นชัดว่า สถิติเป็นวิธีทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง ซึ่งจะอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลตัวเลข ที่ได้มาเพื่อประโยชน์ในการตัดสินที่ถูกต้องที่สุด

การ สถิติของประเทศไทย ได้กำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเกือบ 80 ปี มาแล้ว ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้ง "กรมสถิติพยากรณ์" ขึ้นเป็นหน่วยราชการมีฐานะเป็นกรม ภายใต้กระทรวงการคลังมหาสมบัติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 37 ลงวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2457 โดยมีเสด็จในกรมกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดี มีหน้าที่รวบรวมข้อมูล ตัวเลขทะเบียน และรายงานต่างๆ ของกระทรวง ทบวง กรม เพื่อประโยชน์ใช้ในราชการ เวลาผ่านไปประมาณ 20 ปี หลังจากนั้นกิจกรรมในเชิงสถิติของกรมนี้ลดน้อยลงไปมาก เนื่องจากขาดทั้งคนและงบประมาณ ในระยะนี้มีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพ และสังกัดหลายครั้งหลายหน ระหว่างกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ งานที่ทำสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน ออกเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไป ก็มีเพียงการรวบรวมข้อมูลสถิติประชากร เศรษฐกิจและการค้า จัดพิมพ์เป็นเล่ม ในลักษณะรายงานสถิติประจำปี เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2459 เป็นฉบับปฐมฤกษ์ เสนอข้อมูลเบื้องต้น ทั้งหมด 90 ตารางด้วยกัน ตลอดระยะเวลาอันค่อนข้างยาวนานดังกล่าว มิได้มีการทำสำมะโน หรือสำรวจใดๆ เลย กิจกรรมต่างๆ ในเชิงสถิติก็ยังคงถูกจำกัดในวงแคบๆ โดยขาดบุคลากรและงบประมาณ ที่เหมาะสมเช่นเดิม คงจะเป็นที่จำกันได้ว่า สถิติเป็นของที่ใหม่มากในสมัยนั้น ผู้ที่สนใจในข้อมูลตัวเลขก็น้อยเต็มที่ แม้แต่ในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ความสนใจสถิติอย่างจริงจังก็ไม่มี จนกระทั่งหลังจากที่เกิด ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมาก เมื่อ ค.ศ. 1932 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2475 แล้ว นักเศรษฐศาสตร์จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้อง อาศัยข้อมูลตัวเลขนานาชนิด เพื่อการวางแผนฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนประเทศไทยนั้น สถานภาพ ของการสถิติของชาติ ยังคงซบเซาตลอดเรื่อยมา จนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. 2485

ยุคทองของการสถิติของประเทศไทย ได้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2495 เหตุผลที่กิจการสถิติ เริ่มได้รับความสนใจอย่างจริงจัง ก็เพราะในระยะเวลานั้นประเทศไทย อยู่ในภาวะต้องเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมอย่างมากมายและเร่งด่วน หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองได้สิ้นสุดลง ซึ่งประเทศได้รับความเสียหายอย่างมาก จากภาวะสงครามดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่ง ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และองค์การสหประชาชาติ ในการยืมเงินมาลงทุนซ่อมถนนหนทาง และตึกปรักหักพังไปในระหว่างสงคราม ตลอดจนส่งข้าราชการไปศึกษา และดูงานในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อที่จะได้ความรู้ที่ทันสมัย กลับมาช่วยฟื้นฟูประเทศ รัฐบาลมีความจำเป็น ที่จะต้องมีสถิติพื้นฐานต่างๆ หลายรายการด้วยกัน เช่น สถิติประชากร ผลิตผลเกษตร และอุตสาหกรรมนานาชาติ รายได้ประชาชาติ ฯลฯ เพื่อให้ธนาคารโลก รัฐบาลสหรัฐอเมริกา และสถาบันอื่นๆ นำไปใช้ประกอบการพิจารณาเงินกู้ ของรัฐบาลไทย

ใน ปี พ.ศ. 2495 นั้น รัฐได้ออกพระราชบัญญัติสถิติ 2495 ขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ของรัฐออกไป อย่างกว้างขวางกว่าเดิมเป็นอันมาก ทั้งในด้านการบริหารกิจกรรมสถิติ การส่งเสริมประสานงาน สถิติ การทำสำมะโนประชากร การสำรวจนานาชาติ การศึกษาอบรมสถิติ ตลอดจนด้านการวิจัยในด้านวิชาการ รัฐบาลได้จัดตั้ง สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรีในเดือนกันยายน พ.ศ. 2502 และได้สั่งให้ ยกฐานะของกรมสถิติพยากรณ์ ขึ้นเป็นสำนักงานสถิติกลาง กลับมีฐานะเท่ากรม เป็นส่วนหนึ่งของ สำนักงานเลขาธิการพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งเป็นทบวงการเมืองอิสระ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ สำนักงานสถิติกลางได้ดำเนินการ รวบรวมข้อมูลสถิติหลายโครงการ ซึ่งสำเร็จลงได้ด้วยดี เพราะส่วนหนึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี จากสหประชาชาติและรัฐบาลอเมริกัน ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแนะนำดำเนินการ ในบรรดาผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ซึ่งรัฐบาลไทยได้ช่วยเหลือจากสถาบันต่างๆนั้น มีผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งจากสหประชาชาติ คือ ศาสตราจารย์ ฟิลลิป เฮาเซอร์ มาจากมหาวิทยาลัยชิคาโกในสหรัฐอเมริกา และเคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการทบวงสำมะโนประชากร U.S. Bureau of Census) ของสหรัฐอเมริกามาก่อน ท่านผู้นี้ได้เป็นผู้ที่มีบทบาท สำคัญยิ่งที่ได้ช่วยให้รัฐบาลไทย เห็นความสำคัญของสถิติ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเริ่มยินดี ที่จะสนับสนุนกิจกรรมสถิติ ด้วยงบประมาณเป็นจำนวนมาก อย่างที่ไม่เคยคาดฝันมาก่อน

ต่อมาเพื่อที่จะให้ ราชการสถิติของชาติก้าวรุดหน้าไปรวดเร็วกว่าเดิม รัฐเห็นสมควรให้สำนักงานสถิติกลาง แยกออกจากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ และเลื่อนฐานะขึ้นเป็น สำนักงานสถิติแห่งชาติ (National Statistical Office) แต่ยังคงมีฐานะเท่ากรม เช่นเดิม เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 ซึ่งถือว่าเป็นวันก่อตั้งสำนัก งานตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 80 ตอนที่ 50 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2506 ในการนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติไทย ได้ขยายด้านกำลังเจ้าหน้าที่จาก 5 กอง เป็น 9 กอง เพื่อรองรับงานที่เพิ่มขึ้น

จากการที่โครงการ พัฒนาสถิติ ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ งานสถิติสำคัญของระดับชาติ จึงประสบความสำเร็จด้วยดีหลายประการ เริ่มด้วยสำมะโนประชากร 2503 (ค.ศ. 1960) ซึ่งทำตามคำเชื้อเชิญของสหประชาชาติ ขอให้บรรดาประเทศสมาชิก จัดทำสำมะโนประชากรทุก 10 ปี ในปี ค.ศ. ที่จบ ลงด้วย "0" งานชิ้นแรกที่สำเร็จได้ผลอย่างดียิ่ง โดยปรากฏจากผลของการทดสอบ ความถูกต้องหลังสำมะโน ว่ามีความถูกต้องใกล้เคียงความจริงมากที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากการปฏิบัติงานอย่างทันสมัย และช่วยให้ได้ผลออกเผยแพร่ในช่วงระยะเวลาอันรวดเร็ว

ความ สำเร็จซึ่งได้จากการทำสำมะโนประชากร 2503 นั้น ได้สร้างความเชื่อถือในการปฏิบัติงานของสำนักงานสถิติ ยิ่งกว่าเดิมเป็นอันมาก ซึ่งช่วยให้สำนักงานได้รับการสนับสนุน จากรัฐบาลในด้านงบประมาณ การเงินและกำลังคนเพียงพอใน 10 ปีที่ตามมาคือ 2503 - 2513 นั้นการสถิติของชาติได้ขยายออกไปกว้างอย่างมากมาย นอกเหนือจากสำมะโนประชากร 2503 แล้วสำนักงานยังได้ทำสำมะโนอื่นๆ อีก คือ สำมะโนเกษตร (2506) และสำมะโนอุตสาหกรรม (2507) สำมะโนธุรกิจและบริการ (2509) ส่วนงานสำรวจนั้น ก็สำเร็จไปด้วยดีหลายโครงการด้วยกัน เช่น การสำรวจการปลูกข้าว การสำรวจความเปลี่ยนแปลงของประชากร การสำรวจแรงงาน และการสำรวจการใช้จ่ายของครอบครัว เป็นต้น งานสถิติได้ขยายออกไปต่างจังหวัด ขึ้นหลายจังหวัด โดยจัดตั้งสำนักงานสถิติตามจังหวัดที่สำคัญ ทั่วราชอาณาจักร แต่ละสำนักงานมีเจ้าหน้าที่ประจำประมาณ 5-10 คน โดยมีสถิติจังหวัดเป็นหัวหน้า มีหน้าที่ปฏิบัติงานสถิติตามท้องถิ่น ตามคำสั่งของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และให้ความร่วมมือแก่หน่วยราชการอื่นๆ และเอกชน ในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งปรากฏว่าได้ผลเป็นที่พอใจ ความสำเร็จในโครงการพัฒนาสถิติของรัฐบาลสมัยนั้น นำความชื่นชอบมาให้บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอันมาก

ใน ขณะเดียวกันกับที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเริ่มงานใหม่ๆ สำนักงานก็ได้ขอความร่วมมือจากรัฐบาลอเมริกันและสถาบันอื่นๆ เช่น สหประชาชาติ สหราชอาณาจักร จัดหาคนศึกษาและดูงานสถิติศาสตร์ และสาขาที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากกว่า 150 คน ในช่วงเวลา 10 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2503 - 2513 เพื่อคนไทยจะได้สามารถรับงานต่อ จากบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศหลายท่าน ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการบริหารงานสถิตินานาชนิดอยู่ในขณะนั้น

หน้าที่ สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งได้ระบุใน พ.ร.บ. สถิติ 2495 ก็คือสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะต้องส่งเสริมการอบรม และศึกษาวิชาสถิติให้ได้ระดับมาตรฐานสากล ทั้งนี้โดยเหตุที่ความหมายของคำว่า "สถิติ" นั้น มีความหมายแตกต่างและกว้างขวาง กว่าที่เคยเข้าใจกันว่าเป็นแต่เพียงข้อมูลตัวเลขเท่านั้น เพราะสถิติยังหมายถึงศาสตร์ ซึ่งจะใช้วิเคราะห์ ข้อมูลตัวเลขที่เก็บได้มาอีกด้วย เพื่อที่จะได้มาซึ่งข้อยุติ ที่จะช่วยในการตัดสินใจในกรณีที่มีปัญหา ความหมายที่สองของคำว่า "สถิติ" จึงหมายความว่าสถิติเป็นศาสตร์ (Science) อย่างหนึ่งนั่นเอง ฉะนั้นการเก็บข้อมูลตัวเลข จึงมีจุดประสงค์สองประการ คือนอกจากจะนำมาช่วยในการบริหารธุรกิจประจำวัน เช่น กำหนดตารางเดินรถโดยสารประจำทาง แล้วจุดประสงค์ของการเก็บข้อมูลตัวเลข อีกประการหนึ่งก็คือ จะนำมาวิเคราะห์ตามหลักวิชาสถิติ เพื่อหาข้อมูลยุติที่จะช่วยการตัดสินใจ ความหมายสองประการทำนองนี้ สำหรับศาสตร์อื่นๆ ก็เช่นกัน เป็นต้นว่า "คณิตศาสตร์" นั้น นอกจากจะหมายความ ถึงข้อมูลตัวเลขแล้ว ยังหมายถึงวิชาการ ซึ่งเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งด้วยทำนองเดียวกันนี้คำว่า "บัญชี" นั้น นอกจากจะหมายถึงงบดุลบัญชีกำไรขาดทุนแล้ว ยังหมายถึงหลักวิชาการบัญชี อีกด้วย

เพื่อที่จะสนองการกำหนดหน้าที่ศึกษาวิชา สถิติดังกล่าว ซึ่งจำเป็นจะต้องศึกษาในมหาวิทยาลัย และต้องใช้เวลานาน ถึง 4-7 ปี เช่นเดียวกันกับอาชีพอื่น เช่น กฎหมาย แพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์นั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้ติดต่อกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอความร่วมมือให้มีการเปิดสอนวิชาสถิติอย่างกว้างขวาง ในคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี โดยเปิดภาควิชาสถิติขึ้นเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2496 ตามหลักสูตรของพาณิชยศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาสถิติ นิสิตจะแยกจากหลักสูตรพาณิชยศาสตร์ธรรมดา เพื่อเรียนหนักในกลุ่มวิชาสถิติในปีที่ 3 และ 4 ปรากฏว่าในปีการศึกษา 2497 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีนิสิตจบหลักสูตร พศ.บ (สถิติ) นั้นมีเพียง 3 คน ในปีต่อ ๆ มาจำนวนที่จบก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บางปีมีถึง 70 คน อย่างไรก็ดี หัวหน้าภาควิชาสถิติขณะนั้น สำนึกอยู่เสมอว่า แม้ว่าหลักสูตร พศ.บ จะสามารถผลิตบัณฑิตผู้ที่มีความรู้ ทางวิชาการสถิติลึกซึ้งพอสมควรก็จริง แต่ยังน่าจะหาทางปรับปรุงหลักสูตร ให้เข้มแข็ง เพื่อที่จะได้เหมาะสมกับปริญญาทางสถิติศาสตร์โดยตรง โดยเน้นหนัก ในวิชาคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และคณิตศาสตร์สถิติระดับสูง จึงได้ติดต่อกับ Mr. Waller Wynne Jr. ผู้แทนขององค์การ AID ของสหรัฐอเมริกาเพื่อ ขอความช่วยเหลือ ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยร่างหลักสูตร ปริญญาตรี ทางสถิติ โดยมีมาตรฐานทัดเทียมมหาวิทยาลัย ต่างประเทศ ซึ่งมีการศึกษาดีในด้านนี้ ทางองค์การ AID ก็ยินดีตอบสนองการขอร้องขอความร่วมมือโดยจัดหา IBM 1620 คอมพิวเตอร์ มาให้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2506 ซึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของประเทศไทย การนำเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาในประเทศครั้งนี้ มีส่วนช่วยในการพัฒนาสถิติของประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านการปฏิบัติงานสำมะโนและสำรวจ และในด้านการค้นคว้า และวิจัยนานาประการ เมื่อเครื่อง IBM 1620 เข้ามาติดตั้งอยู่ ณ ภาควิชาสถิตินั้น หลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ศรีลังกา และสิงคโปร์ก็สนใจส่งเจ้าหน้าที่มาดูการ ปฏิบัติงานของเครื่องอีกด้วย เพราะประเทศของเขาเองยังไม่มี

ต่อจากนั้นกิจกรรม ต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับการใช้เครื่องสมองกลก็ได้เริ่มขึ้น ปรากฏว่าหลักสูตร Major ทาง Computer Science เป็นแขนงวิชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแขนง วิชาหนึ่ง ตั้งแต่ปีการศึกษาแรกเป็นต้นมาตราบจนทุกวันนี้ เป็นเวลาหลายปี ระยะแรกๆ นอกจากจะเปิดใช้ในการสอนนิสิตของภาควิชาเองแล้ว นิสิตและอาจารย์ภาควิชาอื่นๆ ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนข้าราชการบุคคลอื่นทั่วไป ยังได้ร่วมเข้ามาใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นี้ โดยเสียค่าบริการในอัตราเพียงเล็กน้อยอีกด้วย ภาควิชาได้เปิดอบรมหลักสูตรภาษา FORTRAN และ COBOL เป็นระยะๆ ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี เพื่อบุคคลภายนอกจะได้มีโอกาสศึกษา รุ่นแรกเริ่มเมื่อวันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2506 มีการสอนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ บรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัย ข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจและบุคคลจากสถาบันเอกชน สนใจมารับการอบรมกันมากมาย เช่น จากภาควิชาต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอง จากบัณฑิตวิทยาลัยวิศกรรมศาสตร์ สปอ. โรงเรียนนายเรือ และนายทหารเรือ การพลังงานแห่งชาติ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ องค์การสหประชาติการ ไฟฟ้า ยันฮี ฯลฯ รวม 60 กว่าคน ซึ่งในจำนวนนี้หลายท่าน ต่อมาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในราชการและธุรกิจ

นอก เหนือจากการนำเอาเครื่อง IMB 1620 เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งจัดเป็นเครื่องแรกแล้วองค์การ AID ยังได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญ ด้านการวางหลักสูตรสถิติมายังภาควิชา และก็จัดว่าเป็นโชคดีอย่างยิ่งที่ผู้ที่มาช่วยร่างหลักสูตร สต.บ. ก็คือ Professor Gertrude M.Cox ศาสตราจารย์ผู้ก่อตั้ง สถาบันสถิติศาสตร์ (Institute of Statistics) ของมหาวิทยาลัย North Carolina ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่ง ของสหรัฐอเมริกาในด้านวิชาสถิติ ท่านผู้นี้ได้ให้ความสนใจ ต่อการวางหลักสูตรภาควิชาสถิติของเราอย่างจริงจัง ศึกษาความต้องการด้านวิชาการสถิติของประเทศไทยอย่างรอบคอบ ในขณะเดียวกันก็ขอความเห็นจากบรรดาคณาจารย์ของภาควิชาการสถิติ และข้าราชการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และกระทรวงทบวงกรมอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับ การใช้หรือผลิตสถิติ ทั้งนี้เพื่อจะได้แน่ใจว่าหลักสูตรที่ร่างให้ จะเหมาะสมกับความต้องการของประเทศไทยอย่างแท้จริง มีครั้งหนึ่งที่ท่านได้อุตส่าห์ขับรถจากมหาวิทยาลัย North Carolina มาพักอยู่กับผู้เขียนที่เมืองชิคาโกถึง 3 วันโดยมิได้คิดค่าตอบแทนแม้แต่น้อย เพื่อที่จะพิจารณาความเหมาะสม ของหลักสูตรสถิติกับผู้เขียน ซึ่งเป็นความเสียสละที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง

ใน อดีตเราได้เห็นความสำคัญของการ ใช้สถิติประยุกต์กับศาสตร์อื่น ยังประโยชน์ให้กับส่วนรวมอย่างมากมาย ดังเช่น เมื่อปี ค.ศ. 1954 ประมาณ 40 ปีที่แล้ว ในสหรัฐอเมริกา สถิติได้ช่วยให้การทดลองใช้ Salk Vaccine ป้องกันโรคโปลิโอเป็นผลสำเร็จ ซึ่งยังประโยชน์ให้แก่มนุษย์โลกอย่างใหญ่หลวง การทดลองครั้งนั้นใช้เด็กถึงหนึ่งล้านคน จัดว่าเป็นการทดลองทางสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดสมัยนั้น

การ ทดลองอีกสองราย ซึ่งสถิติมีส่วนช่วยให้เป็นผลสำเร็จ ในสหรัฐอเมริกาก็คือ การทดลองผลของการสูบบุหรี่ ซึ่งได้ข้อยุติว่าอาจจะเป็นผลร้ายต่อสุขภาพของผู้สูบอย่างมาก และในที่สุดการใช้สถิติวิเคราะห์ระดับความ ปลอดภัย ของปริมาณยาสลบที่ใช้ในการผ่าตัด ประโยชน์ซึ่งได้รับจากการใช้สถิติช่วยในการวิเคราะห์และทดลอง ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการ โดยทั่วไปทุกประเทศทุกวันนี้ ส่วนในประเทศไทยนั้น ก็มีการใช้สถิติประยุกต์กับศาสตร์อื่น ในการวิเคราะห์ผลของการทดลองอยู่เสมอ และขยายวงกว้างออกไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นเกษตรศาสตร์ รัฐศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ แทบทุกโรงงานอุตสาหกรรม จะมีหน่วยควบคุมคุณภาพของผลผลิต บางแห่งจะใช้คอมพิวเตอร์คุมทั้งการผลิต และการบริหารตั้งแต่ต้นจนจบ แม้แต่การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทุกครั้ง ก็มีการสำรวจประชามติล่วงหน้า ซึ่งปรากฏว่าหากดำเนินการโดยถูกต้อง ตามหลักวิชาการแล้ว จะได้ผลใกล้เคียงความจริงจากประสบการณ์ต่างๆ เหล่านี้ก็พอจะกล่าวได้ว่า ขณะนี้วงการทางวิชาการของประเทศไทย ยอมรับแล้วว่า สถิติจะช่วยให้การค้นคว้าวิจัยประสบผลสำเร็จ ได้ข้อยุติที่เชื่อถือได้ เช่นเดียวกับที่เป็นที่ยอมรับแล้วในนานาประเทศ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...